ประสิทธิผลรูปแบบการพยาบาลแบบองค์รวม ต่อการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อ เอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์
พิบูล กมลเพชร, สมจิต ปทุมานนท์*, สุนีย์ ละกำปั่น
ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
                เอดส์เป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หาย และเป็นโรคที่สังคมยังไม่ยอมรับ ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ต้องเผชิญปัญหาทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม การดูแลให้ผู้ติดเชื้อให้สามารถปฏิบัติวิถีชีวิตอย่างมีสุขภาพ และมีคุณภาพชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ วัตถุประสงค์ของการวิจัยแบบกึ่งทดลองนี้ เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการพยาบาล แบบองค์รวมต่อ การดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ที่มารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และที่แผนกผู้ป่วยนอก วชิรพยาบาล เลือกเป็นตัวอย่างในการทดลองตามเกณฑ์ที่กำหนด สุ่มเข้ากลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมโดยการจับคู่ตามคุณลักษณะทางด้านเพศ อายุ ระดับการศึกษา ฐานะเศรษฐกิจ ระยะเวลาที่ทราบว่าติดเชื้อ ภาวะสุขภาพ และการเจ็บป่วย ได้ตัวอย่าง กลุ่มละ 55 คน กลุ่มทดลองได้รับบริการพยาบาลแบบองค์รวม ประกอบด้วยการให้ความรู้ แจกเอกสารเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การประเมินปัญหาสุขภาพ การวางแผนแก้ไขปัญหา และการเยี่ยมบ้านโดยพยาบาลที่ผ่านการอบรมการให้ การพยาบาลแบบองค์รวม ระยะเวลาที่ให้การทดลอง 6 เดือน ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับบริการตามปกติ ตัวอย่างทั้งสองกลุ่มได้รับการประเมินความรู้ และการปฏิบัติในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การปฏิบัติในการรักษาทางเลือก/ การรักษาเสริมการเจ็บป่วย และคุณภาพชีวิต ก่อนการทดลอง และภายหลังการทดลองครบ 6 เดือน ด้วยแบบสอบถามชุดเดียวกัน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ พรรณนา การทดสอบค่าที ไคว-สแควร์และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน เมื่อสิ้นสุดการทดลองมีตัวอย่างที่ออกจากการทดลอง ในกลุ่มทดลอง 10 ราย และกลุ่มควบคุม 13 ราย ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการทดลอง 6 เดือน ทั้งสองกลุ่มมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และกลุ่มทดลอง เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ การปฏิบัติในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและการปฏิบัติในการรักษาทางเลือก / การรักษาเสริมของทั้งสองกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่ในกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุม ประสิทธิผลรูปแบบการให้การพยาบาลแบบองค์รวมต่อการดูแลสุขภาพ และคุณภาพชีวิต มีค่าร้อยละ 71.0 และร้อยละ 61.9 ตามลำดับ จากผลการวิจัยเสนอแนะว่าการให้การพยาบาลแบบองค์รวม สามารถส่งเสริมความรู้ การปฏิบัติในการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ได้ สามารถนำมาพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมการให้การพยาบาลแบบองค์รวม และสถานบริการสุขภาพทุกแห่งสามารถนำรูปแบบการพยาบาลแบบองค์รวมไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง หรือโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้
ที่มา
วารสารวิจัยทางการพยาบาล ปี 2546, April-June ปีที่: 52 ฉบับที่ 2 หน้า 97-111
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิต, HIV seropositive persons, Holistic care, SELF-CARE, การดูแลตนเอง, การพยาบาลองค์รวม, ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี/ผู้ป่วยเอดส์