ผลของการกระตุ้นสัมผัสต่อการตอบสนองความเจ็บปวดของทารกเกิดก่อนกำหนดที่ได้รับการเจาะเลือดบริเวณส้นเท้า
Nattha Auntarun*, วีณา จีระแพทย์
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
บทคัดย่อ
                การวิจัยเชิงทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการกระตุ้นสัมผัสต่อการตอบสนองความเจ็บปวดของทารกเกิดก่อนกำหนดที่ได้รับการเจาะเลือดบริเวณส้นเท้า กลุ่มตัวอย่างเป็นทารกเกิดก่อนกำหนดอายุครรภ์ 32-37 สัปดาห์ ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดมีปัญหา จำนวน 40 ราย จับสลากเพื่อสุ่มตัวอย่างเข้าเป็นกลุ่มควบคุมหรือกลุ่มทดลอง แล้วจับคู่ให้มีอายุครรภ์ใกล้เคียงกัน กลุ่มละ 20 ราย เครื่องมือในการวิจัย คือ คู่มือการกระตุ้นสัมผัสอย่างมีแบบแผนที่มีความตรงตามเนื้อหา และแบบประเมินการตอบสนอง ต่อความเจ็บปวดของทารกเกิดก่อนกำหนดมีความตรงเชิงโครงสร้างและค่าความเที่ยงของการสังเกตเท่ากับ 0.96 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติทดสอบทีแบบจับคู่ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) ค่าเฉลี่ยของคะแนนการตอบสนองต่อความเจ็บปวดของทารกเกิดก่อนกำหนดที่ได้รับการเจาะเลือดบริเวณส้นเท้า ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นสัมผัสกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ ณ นาที่ที่ 3, 4 และ 5 ของการทดลองไม่แตกต่างกัน 2) ค่าเฉลี่ยของคะแนนการตอบสนองต่อความเจ็บปวดของทารกเกิดก่อนกำหนดที่ได้รับการเจาะเลือดบริเวณส้นเท้า กลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นสัมผัส มีค่าคะแนนความเจ็บปวดต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ ณ นาทีที่ 6 7 8 และ 9 ของการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การกระตุ้นประสาทสัมผัสช่วยให้ทารกเกิดก่อนกำหนดสามารถเผชิญกับการเจ็บปวดและเข้าสู่ภาวะสงบหลังการทำหัตถการที่เจ็บปวดได้เร็วขึ้น
ที่มา
วารสารวิจัยทางการพยาบาล ปี 2547, April-June ปีที่: 53 ฉบับที่ 2 หน้า 92-101
คำสำคัญ
Pain response, Premature infants, Tactile stimulation