การสนับสนุนทางสังคมโดยเครือญาติ ความสามารถในการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
ดวงฤดี ลาศุขะ, ทิพาพร วงศ์หงษ์กุล, ยุพิน กลิ่นขจร, สมบัติ ไชยวัฒน์*
ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางสังคมโดยเครือญาติ ความสามารถในการดูแลตนเอง และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง พร้อมทั้งหาตัวทำนายคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังซึ่งมารับการตรวจรักษาที่คลินิกอายุรกรรม แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลระดับตติยภูมิแห่งหนึ่ง ระหว่างเดือนมีนาคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2538 จำนวน 237 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบวัดการสนับสนุนทางสังคมโดยเครือญาติตอนที่ 2ของแบรนด์และไวเนิร์ท ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดยจิรภา หงษ์ตระกูล แบบวัดความสามารถในการดูแลตนเองของเอเวอร์ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดย สมจิต หนุเจริญกุล และปรับโดยจิรภา หงษ์ตระกูล และแบบวัดคุณภาพชีวิตของแคนทริล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์และสมการถดถอยพหุคูณเชิงเส้นตรงแบบเพิ่มตัวแปรเป็นขั้นๆ                ผลการวิเคราะห์พบว่า                1. การสนับสนุนทางสังคมโดยเครือญาติ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสามารถในการดูแลตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r =.42, p< .001)                2. การสนับสนุนทางสังคมโดยเครือญาติ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .33, p< .001)                3. ความสามารถในการดูแลตนเองมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .29, p< .001)                 4. จำนวนปีที่ได้รับการศึกษาและรายได้ของครอบครัว มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสามารถในการดูแลตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r =.26 และ .25, p< .001 ตามลำดับ)                5. การสนับสนุนทางสังคมโดยเครือญาติและความสามารถในการดูแลตนเอง สามารถทำนายคุณภาพชีวิตร่วมกันได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติร้อยละ 14.04 (p<.001) แต่จำนวนปีที่ได้รับการศึกษาและรายได้ของครอบครัวไม่สามารถทำนายคุณภาพชีวิตได้
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2543, April-June ปีที่: 27 ฉบับที่ 2 หน้า 29-40
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Elderly with Chronic illness, Family social support, Self-care agency, การสนับสนุนทางสังคมโดยเครือญาติ, ความสามารถในการดูแลตัวเอง, ผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง