การศึกษานำร่องเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาโรคปวดหลังเนื่องจากพังผืดกล้ามเนื้อในทหารไทยด้วยวิธีฝังเข็มแบบจีน และนวดแผนไทย
วิภู กำเหนิดดี
Department of Physical Medicine and Rehabilitation, Phramongkutklao College of Medicine, 315 Ratchawithi Rd, Ratchathewi, Bangok 10400 Thailand. Phone: 0-2354-7660 ext. 93643
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาข้อมูลนำร่องในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาโรคปวดหลังเนื่องจากพังผืดกล้ามเนื้อในทหารไทยอายุต่ำกว่า 40 ปี โดยให้การรักษาในระยะสั้นด้วยวิธีฝังเข็มและนวดแผนไทย กลุ่มตัวอย่าง ทหารไทยเพศชายอายุ 20-40 ปี จำนวน 18 คน ได้รับการสุ่มตัวอย่างเพื่อแยกเป็นกลุ่มที่รับการรักษาด้วยการนวดแผนไทย และด้วยการฝังเข็ม กลุ่มละ 9 คน ทำการฝังเข็มหรือนวดแผนไทยทั้งหมด 5 ครั้ง ภายในระยะเวลา10วัน ผู้ป่วยทุกคนได้รับการประเมินทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ก่อนเริ่มรักษา และในวันที่ 3, 8 และ 10 ด้วยแบบประเมินความเจ็บปวด McGill ฉบับภาษาไทย, มาตรวัดความเจ็บปวด100มิลลิเมตร และเครื่องมือวัดความไวต่อแรงกดชนิดสปริง ผลการศึกษาพบว่าเมื่อสิ้นสุดการรักษา คะแนน McGillลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งในกลุ่มฝังเข็มและนวดแผนไทย (p = 0.002 และ 0.024 ตามลำดับ) คะแนนมาตรวัดความเจ็บปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.003 และ 0.029 ตามลำดับ) แต่ความไวต่อแรงกดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะในกลุ่มฝังเข็ม (p = 0.006 และ 0.08 ตามลำดับ) เมื่อทำการเปรียบเทียบระหว่างสองกลุ่มพบว่า คะแนนมาตรวัดความปวด และความไวต่อแรงกด ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.115 และ 0.116 ตามลำดับ) ขณะที่คะแนน McGill ในกลุ่มฝังเข็มต่ำกว่ากลุ่มนวดแผนไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.039) มีผู้ป่วยในกลุ่มนวดแผนไทยหนึ่งรายขอถอนตัวจากการศึกษาเนื่องจากระบมหลังการนวดสรุป: การนวดแผนไทยและการฝังเข็ม 5 ครั้งต่างก็มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดหลังเนื่องจากพังผืดกล้ามเนื้อ ในทหารไทยอายุต่ำกว่า 40 ปี, ทั้งสองวิธีให้ผลลดอาการปวดเห็นชัดเจนตั้งแต่หลังการรักษาครั้งแรก, การฝังเข็ม ลดอาการปวดได้มากกว่าการนวดแผนไทยในวันที่ 10 เมื่อประเมินมิติด้านอารมณ์ร่วมด้วย
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2552, February ปีที่: 92 ฉบับที่ Suppl 1 หน้า S117-S123
คำสำคัญ
Thai massage, Back pain, Myofascial pain, Acupuncture