การเปรียบเทียบขนาดและรูปร่างเพดานปากของคนไทยในกลุ่มอายุ 12-15 และ 19-22 ปีที่มีการสบฟันผิดปกติชนิดที่ 2 แบบที่ 1
จิราภรณ์ ชัยวัฒน์*, พรรัชนี แสวงกิจ, มนต์ทิพย์ เทียนสุวรรณ, เดวีนา หยังสู
Department of Orthodontics, Faculty of Density, Mahidol University, 6 Yothi Street, Ratchathewi, Bangkok 10400 Thailand; Tel: 089-0684867
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อเปรียบเทียบขนาดและรูปร่างเพดานปากในคนไทยที่มีการสบฟันผิดปกติชนิดที่ 2 แบบที่ 1 ระหว่างเพศชาย และเพศหญิง และระหว่างกลุ่มอายุ 12-15 และ 19-22 ปีวัสดุอุปกรณ์และวิธีการศึกษา: ตัวอย่างประกอบด้วยคนไทยกลุ่มอายุ 12-15 ปี (เพศชาย 20 ราย เพศหญิง 20 ราย) และกลุ่มอายุ 19-22 ปี (เพศชาย 20 ราย เพศหญิง 20 ราย) ซึ่งไม่เคยได้รับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน มีฟันแท้ขึ้นครบจำนวนถึงฟันกรามแท้ซี่ที่สอง ไม่มีการสบฟันคร่อมในฟันหลังและไม่มีนิสัยผิดปกติ ทำการกำหนดจุดและวิเคราะห์ ณ ตำแหน่งฟันกรามน้อยซี่ที่หนึ่ง และฟันกรามซี่ที่หนึ่งในแนวด้านหน้า และตำแหน่งกึ่งกลางเพดานปากในแนวด้านข้างโดยใช้เครื่องวัดพิกัดสามมิติ และรายงานผลการวัดเป็นพิกัดความสัมพันธ์ในแนวระนาบแกนเอ็กซ์ แกนวายและแกนแซด วิเคราะห์ขนาดของเพดานปากทั้งในแนวด้านหน้าและด้านข้าง เพื่อหาความกว้าง ความสูง และความยาว และเปรียบเทียบความแตกต่างของอายุและเพศโดยใช้การทดสอบ T แบบอิสระ และนำพิกัดความสัมพันธ์มาวิเคราะห์หาค่าสัมประสิทธิ์ของสมการโพลีโนเมียลระดับที่ 4 (y = ao + ax + bx2 + cx3 + dx4)  เพื่อใช้อธิบายรูปร่างของเพดานปากผลการศึกษา: ความกว้าง ความสูง และความยาวของเพดานปากของกลุ่มอายุ 19-22 ปี ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ตรงกันข้ามกับกลุ่มอายุ 12-15 ปี ที่เพศหญิงมากกว่าเพศชาย และความกว้างและความสูงของเพดานปากในกลุ่มอายุ 12-22 ปี มากกว่ากลุ่มอายุ 12-15 ปี แต่ความยาวของเพดานปากในกลุ่มอายุ 12-15 ปี มากกว่ากลุ่มอายุ 19-22 ปี อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างเพศและอายุนั้นไม่มากนัก และพบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้นความกว้างและความสูง ณ ตำแหน่งฟันกรามซี่ที่หนึ่ง ซึ่งกลุ่มอายุ 19-22 ปี มีขนาดที่มากกว่ากลุ่มอายุ 12-15 ปี อย่างมีนัยสำคัญทั้งเพศชายและเพศหญิง ส่วนรูปร่างของเพดานปากนั้นสามารถอธิบายได้โดยใช้สมการทางคณิตศาสตร์โพลีโนเมียลระดับที่ 4 ได้อย่างแม่นยำแล้ว แสดงได้ด้วยค่าสัมประสิทธิ์แห่งการกำหนดเฉลี่ยมากว่า 0.98สรุป: ขนาดความกว้าง ความสูง และความยาวของเพดานปากนั้นไม่มีความแตกต่างกันระหว่างเพศและกลุ่มอายุที่แตกต่างกัน ยกเว้นความกว้างและความสูง ณ ตำแหน่งฟันกรามซี่ที่หนึ่ง ในกลุ่มอายุ 19-22 ปี มีขนาดที่มากกว่ากลุ่มอายุ 12-15 ปี อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเพดานปากนั้นเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะมีการขึ้นของฟันกรามแท้ซี่ที่สองแล้วก็ตาม ความสามารถของการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถนำมาพิจารณาเป็นปัจจัยหนึ่งในการรักษาโดยการขยายเพดานปากและเพื่อเสถียรภาพของผลการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันได้ และนอกจากนี้รูปร่างของเพดานปากที่มีการสบฟันผิดปกติชนิดที่ 2 แบบที่ 1 นั้นสามารถอธิบายได้โดยใช้สมการทางคณิตศาสตร์โพลีโนเมียลระดับที่ 4 ได้อย่างแม่นยำ
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์มหิดล ปี 2552, May-August ปีที่: 29 ฉบับที่ 2 หน้า 153-162
คำสำคัญ
Class II division 1 malocclusion, Coordinate measuring machine, Mathematical model, Palatal size and shape, การสบฟันชนิดที่ 2 แบบที่ 1, ขนาดและรูปร่างของเพดานปาก, สมการทางคณิตศาสตร์, เครื่องวัดพิกัดสามมิติ