เปรียบเทียบการรักษาโรคแผลเปื่อยในช่องปาก (แผลร้อนใน) โดยใช้สมุนไพรขมิ้นชันผสมในออร่าเบส กับการใช้ออร่าเบสเป็นกลุ่มควบคุม (การวิจัยทางคลินิก ระยะที่ 3)
Bunthid Kitchanapanich, Chaweewan Prucksunand*, Korakotch Prucksunand, Suwat Wimolwattanapun
Department of Pharmacology, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok
บทคัดย่อ
                งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่สืบเนื่องมาจากงานวิจัยเรื่อง ผลของขมิ้นชันต่อการเปลี่ยนแปลงเยื่อบุผนังกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กดูโอดีนั่มในผู้ป่วยแผลเปื่อยเปปติค รายงานเบื้องต้นในผู้ป่วย 10 ราย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเภสัชวิทยา ปีที่ 8 เล่มที่ 3 ก.ย.-ธ.ค. 2529 หน้า 139-151 ที่รายงานถึงผลของขมิ้นชันในการรักษาแผลกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กดูโอดินั่ม ในผู้ป่วย 7 รายจาก 10 ราย (70%) ภายในระยะเวลา 4-12 สัปดาห์                จุดบันดาลใจในการศึกษาผลของขมิ้นชันในการรักษาแผลร้อนใน (aphthous ulcer) นั้น เนื่องจาก เมื่อเปรียบเทียบระหว่างแผลเปื่อยเปปติค (peptic ulcer) และแผลร้อนใน จะเห็นว่าอาการแสดง (sign) หรือลักษณะแผล รวมทั้งสาเหตุก่อโรคคล้ายกันมาก (เช่น ความเครียด อาหาร และความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ) โดยที่การศึกษาแผลร้อนในทำได้สะดวกกว่า เพราะมีระยะของโรคสั้นกว่า และการวินิจฉัยไม่ต้องใช้กล้องส่อง endoscope ดั่งการวินิจฉัยแผลเปื่อยเปปติค                ผลการศึกษาพบว่า รอยโรค (แผล) หลังจากการใช้ยาขมิ้นชันหายเร็วกว่ากลุ่มที่ใช้ยาออร่าเบส คือ กลุ่มที่ใช้ยาขมิ้นชันจะใช้เวลา 5.35±0.32 วัน แผลจึงจะหายเป็นปกติ ส่วนกลุ่มที่ใช้ออร่าเบสจะใช้เวลา 6.70±0.39 วัน แผลจึงจะหายเป็นปกติ (p < 0.01) รวมทั้งอาการปวดแสบบริเวณแผลก็หายเร็วกว่าเช่นกัน โดยที่กลุ่มที่ใช้ยาขมิ้นชันนั้นมีขนาดพื้นที่ของแผล 22.49±3.48 ตารางมิลลิเมตร ส่วนกลุ่มที่ใช้ออร่าเบสนั้น ขนาดพื้นที่ของแผลมีขนาด 11.31±1.65 ตารางมิลลิเมตร (p < 0.05)                 เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าผู้ป่วยที่มีแผลร้อนในสามารถหายเองได้ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาที่แผลหายที่แน่ชัดยังไม่มีผู้รวบรวม ใน textbook ของ Fordtran Vol.1 Ed.4 หน้า 533 กล่าวถึงแผลที่เล็กกว่า 5 มิลลิเมตรจะหายเองได้ใน 1-3 สัปดาห์ ส่วนแผลใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ จากผลการศึกษานี้เป็นการพิสูจน์ให้ได้ทราบถึงฤทธิ์ของขมิ้นชัน ในแง่เป็นยาสมานแผลสดและแผลถลอกของเยื่อเมือกในปาก และอาจจะรวมถึงในอวัยวะอื่นๆ ด้วย รวมทั้งเป็นแนวทางในการใช้ยาขมิ้นชันซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านของไทยสำหรับรักษาโรคทางเดินอาหารหรือโรคอื่นๆ ให้แพร่หลายต่อไป                ปัญหาของงานวิจัยเรื่องนี้ได้แก่ ยาเตรียมจากผงขมิ้นชันผสมออร่าเบสที่องค์การเภสัชกรรมเตรียมให้นั้น มีลักษณะเนื้อยาหยาบ หลอดที่บรรจุเนื้อยาแข็งเกินไป ซึ่งคณะผู้วิจัยมีโครงการที่จะทำวิจัยทางคลินิกควบคู่กันไปกับการพัฒนาสูตรตำรับและภาชนะบรรจุให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากสาขาวิชาเภสัชกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย                คาดว่ายาเตรียมสมุนไพรที่ผลิตในประเทศไทยจะมีราคาถูกกว่ายาที่สั่งจากต่างประเทศ ถ้างานวิจัยนี้สำเร็จจะเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจสาธารณสุขของประเทศชาติอย่างมาก 
ที่มา
วารสารแพทย์นาวี ปี 2544, January-April ปีที่: 38 ฉบับที่ 1 หน้า 32-47