การเปรียบเทียบวิธีการดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกจากโรคหลอดเลือดสมองแบบมีส่วนร่วมของทีมสุขภาพและญาติกับวิธีการรักษาตามปกติ ของโรงพยาบาลยะลา
กัลยาวดี จันทะโร, นิรมล พึ่งธรรมเดช*
กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลยะลา
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ต้องการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับความเครียดในผู้ดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกจากโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยและเปรียบเทียบผลการดูแลผู้ป่วยโดยการมีส่วนร่วมของทีมสุขภาพและญาติหรือกลุ่มศึกษาและกลุ่มที่ให้การดูแลแบบปกติหรือกลุ่มควบคุม ที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในที่กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลยะลา ตั้งแต่ ก.ค. 47- มี.ค. 48 โดยในผู้ดูแลใช้แบบประเมินความเครียดด้วยตนเอง ส่วนผู้ป่วยใช้ Barthel Index ทำการประเมิน 3 ครั้ง คือ เมื่อแรกรับ ก่อนจำหน่ายและหลังจำหน่าย 1 เดือน พบว่า ผู้ดูแลที่เป็นบุตรมีระดับความเครียดปกติ 93.3% ผู้ดูแลที่เป็นสามีหรือภรรยามีความเครียดปกติเพียง 75.0% แตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ระดับความเครียดของผู้ดูแลทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ดูแลในกลุ่มผู้ป่วยที่มีผลการฟื้นฟูฯ ดีมีความเครียดปกติ 94.1% ความเครียดสูงกว่าปกติ 5.9% ขณะที่ผู้ดูแลในกลุ่มผู้ป่วยที่มีผลการฟื้นฟูฯไม่ดี มีความเครียดปกติ 71.4% ความเครียดสูงกว่าปกติ 28.6% แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และคะแนน Barthel Index ของกลุ่มศึกษาสูงกว่ากลุ่มควบคุมแม้จะแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
วารสารวิชาการเขต 12 ปี 2548, January-March ปีที่: 16 ฉบับที่ 1 หน้า 11-22