ประสิทธิภาพของการใช้ยาระงับประสาททางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่มารับการส่องกล้องตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินอาหารส่วนต้น
สมชาย อมรโยธิน*, ณรงค์ เลิศอรรฆยมณี, มิ่งขวัญ วงษ์ยิ่งสิน, ปริฉัตร พิมุขมนัสกิจ, วิยะดา ชลายนนาวิน, ณรงค์ เลิศอรรฆยมณี, ปริฉัตร พิมุขมนัสกิจ, มิ่งขวัญ วงษ์ยิ่งสิน, วิยะดา ชลายนนาวิน, สมชาย อมรโยธิน
Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700, Thailand.
บทคัดย่อ
บทนำ: การให้ยาชาระงับความรู้สึกบริเวณช่องปาก และลำคอจำเป็นต้องทำก่อนการส่องกล้องตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินอาหารส่วนต้น แต่เนื่องจากการระงับความรู้สึกวิธีนี้ทำให้ผู้ป่วยไม่สะดวกสบาย ไม่พึงพอใจ และไม่อยากใช้วิธีนี้ในการตรวจครั้งต่อไป การศึกษาประสิทธิภาพของการให้ยาระงับประสาททางหลอดเลือดดำร่วมกับยาชาเฉพาะที่ เปรียบเทียบกับการให้ยาชาเฉพาะที่เพียงอย่างเดียวยังไม่มีการศึกษาอย่างละเอียด วัตถุประสงค์: เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการให้ ยาระงับประสาททางหลอดเลือดดำร่วมกับยาชาเฉพาะที่และการให้ยาชาเฉพาะที่เพียงอย่างเดียวในผู้ป่วยไทยที่มารับการส่องกล้องตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินอาหารส่วนต้น วัสดุและวิธีการ: แบ่งผู้ป่วยแบบสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม; กลุ่ม C (ยาชาเฉพาะที่) และกลุ่ม I (ยาระงับประสาทร่วมกับยาชาเฉพาะที่) ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการให้ยาชาบริเวณช่องปากและลำคอ แต่กลุ่ม I จะได้รับ midazolam 0.035 มก./กก. และ propofol หยดแบบต่อเนื่องทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย ประเมินความยากง่ายของการส่องกล้อง และความสะดวกสบายของผู้ป่วย นอกจากนี้จะประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยและแพทย์ผู้ทำการส่องกล้อง บันทึกจำนวน propofol ทั้งหมด, ระยะเวลาที่ผู้ป่วยฟื้นจากการให้ยาระงับประสาท, ภาวะแทรกซ้อนและความสมัครใจในการเลือกวิธีการให้ยาระงับความรู้สึกครั้งต่อไป ผลการศึกษา: ผู้ป่วยทั้งหมด 170 คน (กลุ่มละ 85 คน) อายุเฉลี่ย 50.5 ปี เป็นผู้ชาย 41.2% สามารถทำการส่องกล้องได้สำเร็จทุกคน ผู้ป่วยกลุ่ม I มีความสะดวกสบาย 100% เทียบกับกลุ่ม C 98.8% นอกจากนี้ผู้ป่วยกลุ่ม I, 9.4 + 0.8 สมัครใจเลือกใช้วิธีการให้ระงับความรู้สึกแบบเดิมอีกเทียบกับ 6.2 + 1.6 ในกลุ่ม C ความพึงพอใจมากของผู้ป่วยและแพทย์ผู้ทำการส่องกล้องกลุ่ม I มากกว่ากลุ่ม C อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (90.6% vs 35.3 % และ 81.2% vs 40.0 %) ปริมาณ propofol ทั้งหมดที่ใช้ 91.6 + 45.5 มก. และเวลาที่ผู้ป่วยฟื้นจากการให้ยาระงับประสาทในกลุ่ม I เฉลี่ย 8.2 + 4.2 นาที ความดันเลือดสูง และชีพจรเต้นเร็วเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่ม C แต่พบความดันเลือดต่ำในกลุ่ม I มากที่สุด สรุป: การให้ยาระงับประสาทร่วมการใช้ยาชาเฉพาะที่ในผู้ป่วยไทยที่มารับการส่องกล้องตรวจวินิจฉัยความผิดปรกติของระบบทางเดินอาหารส่วนต้น มี ประสิทธิภาพดีเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วยและแพทย์ผู้ส่องกล้อง นอกจากนี้ยังเพิ่มความสมัครใจให้ผู้ป่วยเลือกใช้วิธีการให้ยาระงับความรู้สึกแบบเดิมนี้อีกในครั้งต่อไป
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2550, February ปีที่: 90 ฉบับที่ 2 หน้า 301-306
คำสำคัญ
effectiveness, Intravenous sedation, Upper gastrointestinal endoscopy