เปรียบเทียบผลการใช้คลื่นอัลตร้าซาวด์ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อกับการยืดกล้ามเนื้ออย่างเดียว
ชลิกา ชูกร, ผาณิต สุขจิตต์*
Department of Rehabilitation, Sawanpracharak Hospital, Nakornsawan
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลฉับพลันของการใช้คลื่นอัลตร้าซาวด์ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อ เปรียบเทียบกับการยืดกล้ามเนื้ออย่างเดียวในผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดในโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์สถานที่ศึกษา: กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์รูปแบบการวิจัย: การวิจัยทดลองกลุ่มตัวอย่าง: ผู้ป่วยเพศหญิงอายุระหว่าง 20-50 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดและมีจุดกดเจ็บที่บริเวณกล้ามเนื้อ Upper trapezius ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 กันยายน 2548 จำนวน 60 คน วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยทดลองในผู้ป่วยเพศหญิงอายุระหว่าง 20-50 ปี จำนวน 60 คน แบ่งกลุ่มทดลองแบบสุ่ม เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 คน กลุ่มทดลองได้รับการรักษาคลื่นอัลตร้าซาวด์ ความเข้ม 1 วัตต์ต่อตารางเซนติเมตร ความถี่ 1 เมกะเฮิรตซ์โดยใช้ Conventional Ultrasound Technique เป็นเวลา 10 นาที ที่จุดกดเจ็บ หลังจากนั้นทำการยืดกล้ามเนื้อ Upper trapezius ค้างไว้ 15 วินาทีต่อครั้ง จำนวน 10 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 20 วินาทีและกลุ่มควบคุมได้รับการรักษาโดยการยืดกล้ามเนื้อ Upper trapezius ค้างไว้ 15 วินาทีต่อครั้ง จำนวน 10 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 20 วินาที วัดค่าระดับการรับรู้ความเจ็บปวดด้วยแรงกด (Pressure Pain Threshold; PPT) ด้วยเครื่องมือ Pressure Algometer ก่อนการรักษา 3 ครั้งและหลังการรักษาทันที 3 ครั้ง นำข้อมูลที่ได้คำนวณหาค่าเฉลี่ยของค่า PPT ก่อนและหลังการรักษาด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for windows แล้วนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของค่า PPT ก่อนและหลังการรักษาของแต่ละกลุ่ม โดยใช้สถิติ paired t-test และเปรียบเทียบผลต่างของค่าเฉลี่ย PPT ก่อนและหลังการรักษาทั้งสองกลุ่ม โดยใช้สถิติ independence t-testผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างที่รักษาด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อ Upper trapezius จำนวน 30 คน มีอายุเฉลี่ย 32.80±7.89 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 52.30±7.27 กิโลกรัม ส่วนสูงเฉลี่ย 155.23±2.74 เซนติเมตร และมีดัชนีมวลกายเฉลี่ย 21.72±5.03 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ส่วนกลุ่มที่รักษาด้วยการยืดกล้ามเนื้อ Upper trapezius อย่างเดียว จำนวน 30 คน มีอายุเฉลี่ย 32.77±8.33 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 52.03±7.09 กิโลกรัม ส่วนสูงเฉลี่ย 155.37±2.23 เซนติเมตร และมีดัชนีมวลกายเฉลี่ย 21.58±4.78 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ผลการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของข้อมูลทั่วไประหว่างทั้งสองกลุ่ม พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มที่รักษาด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อ Upper trapezius มีค่าเฉลี่ย PPT ก่อนการรักษา 4.05±1.29 กิโลกรัม ต่อตารางเซนติเมตร หลังการรักษาเฉลี่ย 4.74±1.20 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร และกลุ่มที่รักษาด้วยการยืดกล้ามเนื้อ Upper trapezius อย่างเดียวมีค่า PPT ก่อนการรักษาเฉลี่ย 4.54±1.50 กิโลกรัมต่อเซนติเมตร หลังการรักษาเฉลี่ย 5.35±1.40 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร พบว่าทั้งสองกลุ่มมีค่าระดับการรับรู้ความเจ็บปวดด้วยแรงกด (PPT) ที่จุดกดเจ็บเพิ่มขึ้นหลังการรักษาทันทีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบผลต่างของค่าระดับการรับรู้ความเจ็บปวดด้วยแรงกด (PPT) ที่จุดกดเจ็บก่อนและหลังการรักษาทันทีพบว่า กลุ่มที่รักษาด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อ Upper trapezius มีค่าผลต่างเฉลี่ย 0.72±0.41 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร และกลุ่มที่รักษาด้วยการยืดกล้ามเนื้อ Upper trapezius อย่างเดียวมีค่าผลต่างเฉลี่ย 0.78±0.48 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร พบว่าผลต่างของค่า PPT ที่จุดกดเจ็บก่อนและหลังการรักษาของทั้ง 2 วิธีไม่มีความแตกต่างกันวิจารณ์และสรุป: การใช้คลื่นอัลตร้าซาวด์ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อและการยืดกล้ามเนื้ออย่างเดียวในการรักษาที่จุดกดเจ็บของกล้ามเนื้อ Upper trapezius สามารถเพิ่มระดับการรับรู้ความเจ็บปวดด้วยแรงกด (PPT) หลังการรักษาทันที เมื่อเปรียบเทียบผลต่างของค่าเฉลี่ย PPT ก่อนและหลังการรักษา พบว่าการรักษาทั้งสองวิธี สามารถเพิ่มระดับการรับรู้ความเจ็บปวดด้วยแรงกด (PPT) ได้ใกล้เคียงกันหรือไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงการศึกษาผลฉับพลันหลังการรักษาเท่านั้น ดังนั้น เพื่อเป็นการศึกษาประสิทธิภาพที่แน่ชัดของการรักษาทั้ง 2 วิธี จึงควรทำการศึกษาในระยะยาวต่อไป
ที่มา
สวรรค์ประชารักษ์เวชสาร ปี 2548, September-December ปีที่: 2 ฉบับที่ 3 หน้า 185-198
คำสำคัญ
Myofascial pain syndrome, Trigger point, กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด, จุดกดเจ็บ, Pressure Pain Threshold, ค่าระดับการรับรู้ความเจ็บปวดด้วยแรงกด