ผลของการใช้น้ำบ้วนปากผสมสารสกัดจากใบข่อยต่อการอักเสบของเหงือกและการเกิดคราบจุลินทรีย์
สำราญ สุภารี, สุภาภรณ์ สิงหรา, สุวิมล ทวีชัยศุภพงษ์*, อาริยา รัตนทองคำ, เทียมหทัย ชูพันธ์, โสพิศ วงศ์คำ
Department of Oral Diagnosis, Faculty of Dentistry, Khon Kaen University, Khon Kaen, 40002, Thailand
บทคัดย่อ
                การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้น้ำบ้วนปากผสมสารสกัดจากใบข่อยต่อการอักเสลของเหงือกและการเกิดคราบจุลินทรีย์ในอาสาสมัครจำนวน 35 คน โดยอาสาสมัครแต่ละคนจะได้รับการทำความสะอาดช่องปากโดยขูดหินน้ำลายและขัดฟันในระยะเตรียมการ หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ อาสาสมัครแต่ละคนจะได้รับการตรวจสภาพเหงือกและวัดปริมาณคราบจุลินทรีย์ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำลายและคราบจุลินทรีย์เพื่อนำไปตรวจหาปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ก่อนเริ่มทำการทดสอบ จากนั้นจึงขัดฟันทำความสะอาดช่องปากอีกครั้ง ในช่วงแรกของการทดสอบ ให้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกบ้วนปากด้วยน้ำกลั่น ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้บ้วนปากด้วยสารสกัดจากใบข่อยในปริมาณครั้งละ 10 มิลลิลิตร เป็นเวลา 60 วินาที วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 4 วันโดยไม่แปรงฟัน ในวันที่ 5 อาสาสมัครแต่ละคนจะได้รับการตรวจสภาพเหงือกและวัดปริมาณคราบจุลินทรีย์ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำลายและคราบจุลินทรีย์เพื่อนำไปตรวจหาปริมาณเชื้อจุลชีพ หลังจากนั้นจึงขูดหินน้ำลายและขัดฟันจนสะอาด เว้นไปอีก 10 วัน จึงเริ่มช่วงที่สองของการทดสอบ โดยให้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกกลับมาบ้วนปากด้วยสารสกัดจากใบข่อย ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้บ้วนปากด้วยน้ำกลั่นวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 วันติดต่อกันโดยไม่แปรงฟัน โดยก่อนและหลังบ้วนปากจะทำการตรวจสภาพเหงือกและวัดปริมาณคราบจุลินทรีย์ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำลายและคราบจุลินทรีย์เพื่อนำไปหาปริมาณเชื้อจุลินชีพเช่นเดียวกัน ในช่วงแรกของการทดสอบ ผลการวิจัยพบว่าการบ้วนปากด้วยสารสกัดจากใบข่อยสามารถลดการอักเสบของเหงือกได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับการบ้วนปากด้วยน้ำกลั่น แม้ว่าค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์จะแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างการบ้วนปากด้วยสารสกัดจากใบข่อยกับการบ้วนปากด้วยน้ำกลั่น นอกจากนี้ ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของปริมาณเชื้อมิวแทนส์ สเตร็ปโตคอคไคและเชื้อจุลชีพโดยรวมในน้ำลาย จากผลของการวิจัยครั้งนี้สรุปได้ว่า การบ้วนปากด้วยสารสกัดจากใบข่อยสามารถลดการอักเสบของเหงือกได้
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2545, November-December ปีที่: 52 ฉบับที่ 6 หน้า 383-391
คำสำคัญ
Plaque, Gingivitis, Mouthrinse, Streblus asper