Total intravenous anesthesia มีผลต่อการเกิดอาการไอและการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนโลหิตในระยะฟื้นจากยาสลบต่างจาก balanced anesthesia ที่ใช้ inhalation agent หรือไม่
ธิดารัตน์ อริยานุชิตกุล
Department of Anesthesiology, Maharat Nakhon Ratchasima Hospital, Nakhon Ratchasima 30000
บทคัดย่อ
บทนำ: การถอดท่อหายใจหลังการผ่าตัดสิ้นสุดลง เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการไอและมีผลให้เกิดการตอบสนองของระบบไหลเวียนโลหิตมากขึ้น ผู้วิจัยต้องการศึกษาเปรียบเทียบว่าหากใช้เทคนิคการให้ยาระงับความรู้สึกที่แตกต่างกันจะมีผลให้อุบัติการณ์การเกิดการไอและการตอบสนองของระบบไหลเวียนโลหิตในระยะที่ผู้ป่วยฟื้นจากยาสลบแตกต่างกันหรือไม่ วิธีการศึกษา: ทำการศึกษาในผู้ป่วย 86 ราย ASA physical status 1-2 ที่มารับการผ่าตัดและให้การระงับความรู้สึกแบบทั่วไปร่วมกับใส่ท่อหายใจ แบ่งผู้ป่วยเป็นสองกลุ่ม ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 ใช้ยาดมสลบเป็นหลัก กลุ่มที่ 2 ใช้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำเป็นหลัก ให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อและมอร์ฟีนตามสภาพผู้ป่วยและการผ่าตัด หลังเสร็จผ่าตัดแก้ฤทธิ์ยาหย่อนกล้ามเนื้อ รอให้ผู้ป่วยตื่นลืมตาหายใจได้เพียงพอจึงพิจารณาถอนท่อหายใจ บันทึกอาการและภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจ สัญญาณชีพ และค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดก่อน ขณะและหลังถอดท่อหายใจ และระยะเวลาที่ฟื้นจากยาสลบผลการศึกษา: ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างในเพศ ASA physical status ชนิดของการผ่าตัดและระยะเวลาในการผ่าตัด ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 พบอุบัติ การณ์การไอและจำนวนการไอมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจอื่นๆ และการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิตไม่แตกต่างกัน แต่พบว่ากลุ่มที่ 1 มีการเพิ่มขึ้นของชีพจรมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญและพบว่ากลุ่มที่ 2 ใช้ระยะเวลาตื่นจากยาดมสลบนานกว่า โดยระยะเวลาที่อยู่ในห้องพักในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันสรุป: การให้ยาระงับความรู้สึกชนิดให้ทางหลอดเลือดดำ สามารถลดอุบัติการณ์และจำนวนการไอรวมถึงลดการเพิ่มขึ้นของชีพจรลงได้ โดยที่ไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงแม้ว่าจะทำให้ระยะเวลาที่ผู้ป่วยตื่นจากยาสลบช้าลง
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2551, October-December ปีที่: 34 ฉบับที่ 4 หน้า 236-242
คำสำคัญ
TIVA, Emergence period, ยาระงับความรู้สึกชนิดให้ทางหลอดเลือดดำ, ระยะฟื้นจากยาสลบ