ประสิทธิภาพและความปลอดภัยระหว่างริสเพอริโดนและฮาโลเพอริดอลในผู้ป่วยไทยที่เป็นโรคจิตเภทครั้งแรก
จุฑามณี สุทธิสีสังข์, พิชิตพงษ์ อริยวงศ์, วันชัย กิจอรุณชัย, สมรัก ชูวานิชวงศ์*, สันติชัย ฉ่ำจิตรชื่น, สุทธิพงศ์ ชิณเครือ
Psychiatric Unit, Srithanya Hospital, Nonthaburi 11000.
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของริสเพอริโดนซึ่งเป็นยารักษาโรคจิตกลุ่มใหม่ เปรียบเทียบกับฮาโลเพอริดอลซึ่งเป็นยารักษาโรคจิตกลุ่มเดิม ในการรักษาผู้ป่วยไทยที่เป็นโรคจิตเภทครั้งแรก วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้าเป็นระยะเวลา 24 สัปดาห์ โดยการสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคจิตเภทครั้งแรกจำนวน 22 คนจากโรงพยาบาลศรีธัญญา เพื่อรักษาด้วยยาริสเพอริโดนในขนาด 2-6 มิลลิกรัมต่อวัน หรือยาฮาโลเพอริดอลในขนาด 10-40 มิลลิกรัมต่อวัน วัดประสิทธิผลการรักษาโดยมาตรวัด Positive and Negative Syndrome Scale (PANSS) และวัดผลข้างเคียงโดยเฉพาะผลข้างเคียงทางระบบเอกซ์ตร้าปิรามิดอล (EPS) โดยมาตรวัด Extrapyramidal Symptom Rating Scale (ESRS) ผลการศึกษา ยาริสเพอริโดนและยาฮาโลเพอริดอล มีประสิทธิภาพในการลดค่าคะแนน PANSS ของผู้ป่วย เมื่อเปรียบเทียบกับค่าคะแนนเริ่มต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) อัตราการตอบสนองต่อการรักษาที่ 8 สัปดาห์ ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาริสเพอริโดนขนาด 3.5? 1.8 มิลลิกรัมต่อวัน มีอัตราการตอบสนองต่อยาร้อยละ 81.8 ซึ่งมากกว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฮาโลเพอริดอลขนาด 12.6? 10.3 มิลลิกรัมต่อวัน(ร้อยละ 54.5, p=0.15) และค่าคะแนนใน depression subscale ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาริสเพอริโดน ลดลงมากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฮาโลเพอริดอลในระยะ 24 สัปดาห์ของการติดตามผลการรักษา กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาริสเพอริโดนพบผลข้างเคียง drowsiness และ tremor บ่อยกว่า แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ในขณะที่กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฮาโลเพอริดอลพบผลข้างเคียง acute dystonia บ่อยกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องการรับยาต่อเนื่องในระหว่างการติดตามผลการรักษา เมื่อทำการตรวจร่างกาย วัดชีพจร ความดันโลหิต และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว ไม่พบความผิดปกติอื่นๆ ในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ตลอดระยะเวลาการรักษาสรุป ในผู้ป่วยโรคจิตเภทครั้งแรก ยาริสเพอริโดนจะมีประสิทธิผลในการรักษาอย่างน้อยเทียบเท่ากับยาฮาโลเพอริดอล แต่การรักษาด้วยริสเพอริโดนจะเกิดอุบัติการณ์ของผลข้างเคียงชนิด acute dystonia ต่ำกว่าการรักษาด้วยฮาโลเพอริดอล แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยในการศึกษาครั้งนี้มีน้อย จึงไม่สามารถแสดงค่าความแตกต่างของประสิทธิผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จึงเป็นที่น่าสนใจในการทำการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นต่อไป
ที่มา
วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2543, เมษายน-มิถุนายน ปีที่: 45 ฉบับที่ 2 หน้า 165-177
คำสำคัญ
Haloperidol, Schizophrenia, first-episode, risperidone, schizophreniform disorder, ริสเพอริโดน, ฮาโลเพอริดอล, โรคจิตเภท