ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะขาขาดเลือด
จุฬาพร ประสังสิต*, ชินา บุนนาค, รวิวรรณ หนูนะ
Nursing Department, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok, Thailand; E-mail: chulamanee2000@yahoo.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิต ระดับการสนับสนุนทางสังคม และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะขาขาดเลือด รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงบรรยาย วิธีดำเนินการวิจัย: ศึกษาในผู้ป่วยภาวะขาขาดเลือดที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ปี 2547-2552 จำนวน 120 ราย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยคัดเลือกตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบบันทึกลักษณะส่วนบุคคลของผู้ป่วย ข้อมูลด้านการรักษา แบบสอบถามคุณภาพชีวิต (SF-36) เก็บข้อมูลตั้งแต่มกราคม 2551 ถึง สิงหาคม 2552 วิเคราะห์ข้อมูลโดยแจกแจงความถี่ คำนวณค่า ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Kruskal-Wallis test ผลการวิจัย: พบว่าคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยภาวะขาขาดเลือดอยู่ในระดับต่ำ (เกณฑ์ < 75 คะแนน) และคุณภาพชีวิตรายด้านในแต่ละองค์ประกอบ ได้แก่ ความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกาย บทบาทที่ถูกจำกัดจากปัญหาทางด้านร่างกาย ความเจ็บปวด บทบาททางสังคม สุขภาพจิต บทบาทที่ถูกจำกัดอันเนื่องมาจากปัญหาทางด้านอารมณ์ ความกระฉับกระเฉง และความคิดเห็นด้านสุขภาพทั่วไป อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน กลุ่มตัวอย่างได้รับการสนับสนุนทางสังคมในระดับดีในทุกวิธีการรักษา ปัจจัยด้านอายุ สถานภาพในครอบครัว อาชีพ โรคร่วม และระยะเวลาการเจ็บป่วยมีผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยภาวะขาขาดเลือด (p < .01) และยังพบว่ารายได้และชนิดการผ่าตัดรักษา มีผลต่อคะแนนคุณภาพชีวิตด้านความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05, p < .01 ตามลำดับ) สรุปและข้อเสนอแนะ: ผู้ป่วยภาวะขาขาดเลือดมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งทีมสุขภาพควรนำความรู้นี้ไปใช้ในการพัฒนาแนวทางในดูแลผู้ป่วย เพื่อปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2554, April-June ปีที่: 29 ฉบับที่ 2 Suppl 1 หน้า 27-36
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Limb Ischemia, ภาวะขาขาดเลือด