เปรียบเทียบผลการรักษาผู้ป่วยปวดคอจาก Myofascial Pain Syndrome ด้วยการนวดไทยกับอัลตร้าซาวด์
กิติยา โกวิทยานนท์*, ปนตา เตชทรัพย์อมร
Physical Therapy Department, Bhudachinaraj Hospital, Phitsanulok
บทคัดย่อ
 
หลักการและเหตุผล: ผู้ป่วยปวดคอจาก myofascial pain syndrome (MPS) พบได้บ่อยในคลินิก การรักษามีทั้งวิธีนวดไทยแบบดั้งเดิมและอัลตร้าซาวด์ อย่างไรก็ตามยังมีการศึกษาถึงผลการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวน้อยมาก
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาผู้ป่วยปวดคอจาก MPS ด้วยวิธีนวดไทยกับวิธีอัลตร้าซาวด์
วิธีการศึกษา:  เป็นการศึกษาเชิงปริมาณในผู้ป่วยปวดคอจาก MPS 44 คน แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 22 คนโดยวิธีจับฉลาก กลุ่มแรกรักษาด้วยอัลตร้าซาวด์ กลุ่มที่สองรักษาด้วยวิธีนวดไทยสัปดาห์ละ 3 วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ก่อนและหลังสิ้นสุดการรักษาวัดช่วงการเคลื่อนไหวของคอผู้ป่วยด้วยเครื่อง cervical range of motion (CROM) ประเมินระดับความเจ็บปวดโดย visual analog scale (VAS) ตอบแบบประเมินความเจ็บปวดขณะปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน (functional rating index: FRI) และประเมินความพึงพอใจหลังรักษาเปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังรักษาด้วย paired t-test, Wilcoxon signed rank test และระหว่างกลุ่มด้วย independent t-test และ Mann-Whitney U test  กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
ผลการศึกษา: การเคลื่อนไหวของคอโดยรวมหลังรักษาทั้งวิธีนวดไทยและอัลตราซาวด์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี = 0.001 ทั้งสองวิธี) ระดับความเจ็บปวดและคะแนนความเจ็บปวดขณะปฏิบัติกิจวัตรประจำวันหลังรักษาทั้งสองวิธีลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี = 0.001 ทั้งสองวิธี) การเคลื่อนไหวของคอโดยรวมและระดับความเจ็บปวดทั้งก่อนและหลังรักษาระหว่างสองวิธีไม่แตกต่างกัน แต่ค่าคะแนนความเจ็บปวดขณะปฏิบัติกิจวัตรประจำวันหลังรักษาของกลุ่มนวดไทยลดลงมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี = 0.044) อีกทั้งกลุ่มนวดไทยพึงพอใจต่อการรักษามากกว่า (ค่าพี = 0.014)
สรุป: ทั้งการรักษาด้วยการนวดไทยและอัลตร้าซาวด์ในผู้ป่วยปวดคอจาก MPS สามารถเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของคอลดระดับความเจ็บปวด และคะแนนความเจ็บปวดในขณะทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การนวดไทยเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และผู้ป่วยพึงพอใจมากกว่าการรักษาด้วยอัลตราซาวด์ ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้รักษาผู้ป่วยปวดคอจาก MPS ด้วยการนวดไทยให้มากขึ้น
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2553, May-December ปีที่: 8 ฉบับที่ 2-3 หน้า 179-190
คำสำคัญ
การนวดไทย, Thai massage, ปวดคอ, Traditional massage, Ultrasound, Cervical myofascial pain syndrome, การนวดรักษา, อัลตราซาวด์, กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด