การเปรียบเทียบผลการลดอาการปวด หลังการผ่าตัดคลอดระหว่างยา Ibuprofen กับยาหลอก
ลักษมี ชาญเวชช์, อณูวรรณ แสนยาสิริ*
Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Prince of Songkla University, Hat Yai, Songkla, 90110
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: การฉีดยา morphine เข้าช่องไขสันหลัง (Intrathecal morphine) เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพดีในการระงับปวด หลังการผ่าตัดคลอด แต่เนื่องจากมีระยะเวลาออกฤทธิ์เพียง 12-24 ชม. จึงจำเป็นต้องมีการให้ยาระงับปวดชนิดอื่นเสริมเมื่อหมดฤทธิ์ยา ซึ่งผู้ทำการวิจัยมีความสนใจศึกษาผลในการลดปวดหลังการผ่าตัดคลอดของยา ibuprofen ชนิดรับประทานที่น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในกลุ่มนี้มากกว่าวิธีอื่นวัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการลดปวดหลังการผ่าตัดคลอดของยา ibuprofen เปรียบเทียบกับยาหลอกวิธีการศึกษา: ศึกษาเชิงทดลองแบบ double-blind randomized controlled trial ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่มาผ่าตัดคลอดแบบไม่ฉุกเฉินที่ใช้การระงับความรู้สึกด้วยวิธีฉีดยาชา  hyperbaric bupivacaine ผสมกับยา morphine 0.2 มก. เข้าช่องไขสันหลัง จำนวน 134 ราย อายุระหว่าง 18-45 ปี, ASA class I-II แล้วสุ่มแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มทดลอง (68 คน)  ซึ่งได้รับยา ibuprofen 400 มก. และกลุ่มควบคุม (66 คน) ซึ่งได้รับยาหลอก โดยเริ่มรับประทานยาตั้งแต่ 12 ชม.หลังผ่าตัด จากนั้นรับประทานยาทุก 6 ชม. ติดต่อกันจนครบ 3 วันหลังผ่าตัด ระหว่างนี้ถ้ามีอาการปวด ผู้ป่วยสามารถขอยา morphine 3 มก.ฉีดเสริมทางหลอดเลือดดำได้ทุก 3 ชม.ตามต้องการ ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม จะถูกเปรียบเทียบเกี่ยวกับปริมาณยา morphine ที่ได้รับเสริม คะแนนความปวดขณะพักและขณะเคลื่อนไหวที่เวลา 6, 12, 18, 24, 48 และ 72 ชม.หลังผ่าตัด, คะแนนความพึงพอใจและมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เกิดจากยา ibuprofen เช่น อาการปวดท้อง และอาการแพ้ยาไว้ด้วยผลการศึกษา: คะแนนความปวดขณะพักและขณะเคลื่อนไหว ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่าง 2 กลุ่ม ที่เวลา 6, 12 และ 18 ชม. (ในขณะพัก) แต่พบว่าในขณะเคลื่อนไหวที่เวลา 18 ชม. กลุ่ม ibuprofen มีคะแนนความปวดต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (3.7 ± 1.8 เทียบกับ 4.8 ± 2.3, p <0.001) และกลุ่ม ibuprofen มีคะแนนความปวดในขณะพักและขณะเคลื่อนไหวที่เวลา 24, 48 และ 72 ชม. ต่ำกว่ากลุ่มยาหลอก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.001) ปริมาณยา morphine ที่ผู้ป่วยได้รับการฉีดเสริมทางหลอดเลือดดำ พบว่าในกลุ่ม ibuprofen มีปริมาณต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (0.71 มก. เทียบกับ 2.36 มก., p <0.001) สำหรับคะแนนความพึงพอใจ พบว่าผู้ป่วยในกลุ่ม ibuprofen มีคะแนนสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (7.8 ± 1.6 เทียบกับ 6.2 ± 2.2, p < 0.001) การศึกษาครั้งนี้มีผู้ป่วย 3 ราย ในกลุ่ม ibuprofen เกิดผื่นแดงที่สงสัยว่าเกิดจากการแพ้ยา แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอกแล้วพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.2) สรุป: การรับประทานยา ibuprofen วันละ 1,600 มก. โดยเริ่มรับประทานที่เวลา 12 ชม. หลังผ่าตัดคลอด สามารถลดความรุนแรงของอาการปวดไปจนถึง 72 ชม.หลังผ่าตัด
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2549, October-December ปีที่: 32 ฉบับที่ 4 หน้า 285-294
คำสำคัญ
Cesarean section, ibuprofen, Oral analgesia, post-operative pain