ประสิทธิผลของการผสมผสานการฝึกออกกำลังกายแบบความทนทานและแข็งแรงต่อการทำหน้าที่เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่และขึ้น-ลงบันไดในเด็กสมองพิการ
ปัทมาวดี พาราศิลป์, วัณทนา ศิริธราธิวัฒน์, จิตลดา ประเสริฐนู, พรรณี ปึงสุวรรณ*
School of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Sciences, Khon Kaen University; e-mail: ppunne@kku.ac.th
บทคัดย่อ
 
การรักษาด้วยการออกกำลังกายมีประโยชน์สำหรับเด็กสมองพิการ การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการออกกำลังกายแบบผสมผสานระหว่างความทนทานและแข็งแรงต่อความสามารถในการทำหน้าที่เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Function Measurement, GMFM) และการขึ้น-ลงบันได (Time Up and Down Stair, TUDS) ในเด็กสมองพิการ อาสาสมัครเป็นเด็กสมองพิการประเภทหดเกร็งอายุเฉลี่ย 13.27 ± 3.57 (ระหว่าง 7-16) ปี มีความสามารถในการเคลื่อนไหวตามเกณฑ์ Gross Motor Function Classification System Expanded and Revised ระดับ 1-3 จำนวน 15 คน ใช้วิธีการสุ่มเข้ากลุ่มออกกำลังกาย 8 คน และควบคุม 7 คน กลุ่มออกกำลังกายได้รับการฝึกออกกำลังกายแบบผสมผสานเป็นเวลา 70 นาที/ครั้ง 3 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ โปรแกรมการฝึกประกอบด้วย การฝึกความแข็งแรงด้วยการลุกขึ้นยืนจากเก้าอี้และก้าวขึ้น-ลงบันได โดยเพิ่มนํ้าหนักทุก 2 สัปดาห์ และการฝึกความทนทาน แบ่งออกเป็น 3 สถานี คือ ปั่นจักรยาน เดินด้วยเครื่องเดินวงรี และนันทนาการด้วยการเดินเร็ว/วิ่ง อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มได้รับการประเมิน GMFM-88 และทดสอบ TUDS ก่อนและหลังการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ANCOVA เพื่อประเมินความแตกต่างของตัวแปรหลังการทดลองระหว่างกลุ่ม ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มออกกำลังกายมีค่าคะแนน GMFM-88 ในหัวข้อการยืน (dimension D) และการเดิน วิ่ง กระโดด (dimension E) มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (คะแนนความแตกต่าง 4.3%, 95%CI: 0.96 ถึง 7.64% และ 6.71%, 95%CI: 0.48 ถึง 12.94% ตามลำดับ) รวมทั้งใช้เวลาในการทดสอบ TUDS น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (6.01 วินาที, 95% CI: 1.16 ถึง 10.85 วินาที) ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการฝึกออกกำลังกายแบบผสมผสานสามารถเพิ่มการทำหน้าที่เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และความสามารถในการขึ้น-ลงบันไดในเด็กสมองพิการที่มีความสามารถด้านการเคลื่อนไหวระดับน้อยถึงปานกลางได้
 
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2554, September-December ปีที่: 23 ฉบับที่ 3 หน้า 304-315
คำสำคัญ
Exercise, การออกกำลังกาย, Spastic cerebral palsy, Gross Motor Function Measurement (GMFM), สมองพิการชนิดเกร็ง, การประเมินการทำหน้าที่เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่