ต้นทุนต่อหน่วยของงานบริการโรงพยาบาลแม่สะเรียง ปีงบประมาณ 2546 และ 2547
สุเมธ องค์วรรณดี
Provincial Public Health Office, Mae Hong Son Province
บทคัดย่อ
 
                ต้นทุนต่อหน่วยบริการได้ถูกใช้ประเมินประสิทธิภาพของหน่วยบริการ และเป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรและวางแผนปรับปรุงประสิทธิภาพ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคำนวณต้นทุนต่อหน่วยบริการต่างๆ ภายในโรงพยาบาลแม่สะเรียง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยอาศัยข้อมูลทุติยภูมิของปีงบประมาณ 2546 และ 2547 และเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของต้นทุนต่อหน่วย รูปแบบการศึกษาเชิงพรรณนา ใช้หลักทฤษฏีการวิเคราะห์ต้นทุนและใช้คู่มือการวิเคราะห์ต้นทุนโรงพยาบาลชุมชนของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เป็นแนวทางในการเก็บข้อมูล การบันทึก และคำนวณ ต้นทุนในการศึกษาครั้งนี้หมายถึงต้นทุนทางบัญชีและใช้มุมมองของผู้ให้บริการ
                การศึกษาพบว่าในปีงบประมาณ 2546 และ 2547 สัดส่วนค่าแรง : ค่าวัสดุ : ค่าลงทุน เท่ากับ 57.73 : 27.59 : 14.68 และ 61.61 : 31.61 : 6.78 ตามลำดับ ต้นทุนต่อหน่วยของผู้ป่วยนอกรวมทุกแผนกเท่ากับ 257.01 และ 256.33 บาท ตามลำดับ ผู้ป่วยในรวมทุกหอผู้ป่วยเท่ากับ 4,579.31 และ 4,944.22 บาท ต่อรายตามลำดับ และต้นทุนของผู้ป่วยในต่อหนึ่งค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ที่ปรับค่าแล้วเท่ากับ 6,575.79 และ 7,177.76 บาท ตามลำดับ ต้นทุนต่อหน่วยของผู้ป่วยนอก แยกรายแผนกพบว่าแผนกทันตกรรมมีต้นทุนสูงสุด 679.28 บาทต่อครั้งการให้บริการในปี 2546 และคลินิกเพื่อนใจมีต้นทุนสูงสุด 684.39 บาทต่อครั้งการให้บริการในปี 2547 ส่วนผู้ป่วยในพบว่าหอผู้ป่วยหนักมีต้นทุนสูงสุดทั้ง 2 ปี (14,327.40 และ 12,338.29 บาทต่อรายผู้ป่วยใน) การเปลี่ยนแปลงของแต่ละหน่วยบริการมีผู้มารับบริการเพิ่มขึ้นทุกแผนก ยกเว้นแพทย์แผนไทยและคลินิกเพื่อนใจ รวมถึงจำนวนวันนอนที่เพิ่มขึ้นทุกหอผู้ป่วยยกเว้นหอผู้ป่วยชาย และเกือบทุกหอผู้ป่วย ยกเว้นหอผู้ป่วยหนัก และครึ่งหนึ่งของหน่วยบริการผู้ป่วยนอกจะมีต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางกลับกัน เกือบทุกหอผู้ป่วยในยกเว้นหอผู้ป่วยชาย มีต้นทุนต่อวันนอนลดลง
                คู่มือการวิเคราะห์ต้นทุนโรงพยาบาลชุมชนที่ใช้เป็นแนวทางการศึกษาครั้งนี้ให้ความสะดวกและง่ายต่อการวิเคราะห์ต้นทุน โรงพยาบาลแม่สะเรียงก็เช่นเดียวกับโรงพยาบาลอื่นที่มีสัดส่วนค่าแรงสูงสุด ซึ่งมีต้นทุนต่อหน่วยของผู้ป่วยนอกใกล้เคียงกับโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียงอื่น แต่ต้นทุนต่อหน่วยผู้ป่วยในจะมีค่าสูงกว่า เนื่องจากโรงพยาบาลมีแพทย์เฉพาะทางและเปิดบริการหอผู้ป่วยหนักและเด็กคลอดก่อนกำหนด ด้านประสิทธิภาพเชิงต้นทุนพบว่า ในบางหน่วยบริการจำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้นด้วย แต่บางหน่วยบริการกลับมีต้นทุนต่อหน่วยลดลงเช่นเดียวกับต้นทุนต่อวันนอนที่ลดลงเช่นกัน อาจบ่งถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งนี้อาจต้องนำคุณภาพของหน่วยบริการ รวมถึงการนำน้ำสัมพัทธ์ของกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมมาพิจารณาประกอบ
 
 
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2551, January-March ปีที่: 2 ฉบับที่ 1 หน้า 66-75
คำสำคัญ
Efficiency, ประสิทธิภาพ, Unit cost, โรงพยาบาลชุมชน, District hospital, Relative weight, ต้นุทนต่อหน่วย, ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์, โรงพยาบาลแม่สะเรียง