ผลการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด ณ ศูนย์มะเร็งอุดรธานี
สุธาสินี หัสรินทร์, เบญจมาศ คุชนี*
Clinical Pharmacy Research Unit, Faculty of Pharmacy, Mahasarakham University, Thailand
บทคัดย่อ
 
                มะเร็งเต้านมจัดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทยและทั่วโลก ปัญหาสำคัญที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดคือ การเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ลดลงในระหว่างการรักษา การวิจัยเชิงทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการให้บริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต่อความรู้เรื่องโรคและยาเคมีบำบัด พฤติกรรมการดูแลตนเอง ความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์ คุณภาพชีวิตและความพึงพอใจของผู้ป่วยที่มีต่อการบริบาลทางเภสัชกรรม โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศหญิงที่เข้ารับการรักษา ณ ศูนย์มะเร็งอุดรธานีระหว่างเดือนมกราคมและเดือนมีนาคม 2552 ผู้เข้าร่วมการศึกษาเคยได้รับยาเคมีบำบัดมาแล้วอย่างน้อย 1 รอบ มีผู้ป่วยทั้งหมด 46 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 22 ราย และกลุ่มศึกษา 24 ราย ทั้งสองกลุ่มได้รับการทดสอบ pre-test ก่อนได้รับยาเคมีบำบัด ในกลุ่มศึกษาได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรม (ได้แก่ ความรู้เรื่องโรค ยาเคมีบำบัดและการดูแลรักษาตัวเอง) เป็นการแทรกแซงส่วนในกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติของหอผู้ป่วย จากนั้นทำการทดสอบ post-test เมื่อผู้ป่วยกลับมารับยาเคมีบำบัดในรอบถัดไป พบว่ากลุ่มศึกษามีคะแนนความรู้ พฤติกรรมการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตสูงกว่ากลุ่มควบคุม ส่วนความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์จากยาเคมีบำบัด (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เป็นต้น) ลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.001) และยังพบอีกว่ากลุ่มศึกษามีความพึงพอใจต่อการบริบาลทางเภสัชกรรมในระดับที่สูงกว่ากลุ่มควบคุม สรุปได้ว่าการให้บริบาลทางเภสัชกรรมมีส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วย ดังนั้นเภสัชกรควรตระหนักถึงบทบาทนี้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้มากขึ้น เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการบริบาลทางเภสัชกรรมที่ดีขึ้น อีกทั้งนำไปสู่การพัฒนาสื่อการสอนที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อไป
 
 
ที่มา
วารสารโรคมะเร็ง ปี 2554, July-September ปีที่: 31 ฉบับที่ 3 หน้า 93-105
คำสำคัญ
Quality of life, chemotherapy, Breast cancer, Pharmaceutical care