ความเป็นไปได้ของการปฏิบัติโยคะและการควบคุมตนเอง ต่ออาการปวดศีรษะและคุณภาพการนอนหลับในผู้ป่วยโรคไมเกรน โรงพยาบาลมหาสารคาม
พัชรี การะโต*, ชวนพิศ ทำนอง, สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา
วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม
บทคัดย่อ
 
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิบัติโยคะและการควบคุมตนเองต่ออาการปวดศีรษะและคุณภาพการนอนหลับในผู้ป่วยโรคไมเกรน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคไมเกรนที่เข้ารับการตรวจรักษาที่คลินิกสุขภาพชุมชน โรงพยาบาลมหาสารคาม มีประวัติเป็นโรคไมเกรนอย่างน้อย 3 เดือน ไม่มีประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ กลุ่มตัวอย่างสมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 60 ราย ทำการสุ่มอย่างง่ายเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 ราย เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม ถึงพฤศจิกายน 2551 กลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มที่ได้รับการบำบัดตามปกติ กลุ่มทดลองเป็นกลุ่มที่ได้รับการบำบัดตามปกติร่วมกับการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติโยคะและฝึกโยคะที่บ้าน วันละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน เป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์ โดยใช้เทคนิคควบคุมตนเอง การสังเกตและการบันทึกพฤติกรรมตนเอง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบประเมินคัดกรองผู้ป่วยโรคไมเกรน แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป  แบบบันทึกอาการปวดศีรษะและการปฏิบัติโยคะประจำวัน แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ และชุดคู่มือการปฏิบัติโยคะ ซึ่งประกอบด้วยคู่มือ ดีวีดี และโปสเตอร์ โดยประยุกต์ใช้กรอบแนวคิดการปฏิบัติโยคะเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะของฮาวเทนและแมคคอร์ด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ไคสแควร์ paired t-test และ independent t-test
                ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการทดลองผู้เข้าร่วมโครงการจนเสร็จสิ้นกลุ่มทดลอง จำนวน 22 รายและกลุ่มควบคุม จำนวน 29 ราย กลุ่มทดลองมีค่าคะแนนเฉลี่ยความถี่ของอาการปวดศีรษะ และความรุนแรงของอาการปวดศีรษะต่ำกว่ากลุ่มควบคุม (P < 0.01) คะแนนเฉลี่ยคุณภาพการนอนหลับ เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุม (P < 0.001) ส่วนระยะเวลาปวดศีรษะไม่แตกต่างกัน (P > 0.05) ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้ปฏิบัติโยคะส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ และตั้งใจจะฝึกโยคะต่อไป (ร้อยละ 68) สรุปได้ว่าการปฏิบัติโยคะอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์ ส่งผลให้ความถี่ของอาการปวดศีรษะและความรุนแรงของอาการปวดศีรษะลดลง คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น ควรนำโปรแกรมการปฏิบัติโยคะไปใช้เป็นกิจกรรมทางเลือกในการส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ หรือในกลุ่มประชากรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และควรทำการศึกษาวิจัยผลของการปฏิบัติโยคะในระยะยาวต่อไป
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ ปี 2552, October-December ปีที่: 32 ฉบับที่ 4 หน้า 1-13
คำสำคัญ
Migraine, Headache, yoga intervention, self control, sleep quality, การปฏิบัติโยคะ, การควบคุมตนเอง, อาการปวดศีรษะ, คุณภาพการนอนหลับ, ผู้ป่วยโรคไมเกรน