ประสิทธิผลของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานด้วยการแพทย์ทางเลือก
ศุภรักษ์ ศุภเอม
โรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
บทคัดย่อ
 
                โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้ป่วยเป็นอย่างมาก การแพทย์ทางเลือกอาจนำมาประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยเบาหวานได้ โดยในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการประเมินว่ากิจกรรมแพทย์ทางเลือกสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและเพิ่มคะแนนคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานได้หรือไม่ ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบมีกลุ่มเปรียบเทียบ โดยมีการให้กิจกรรมแพทย์ทางเลือกเสริมเข้าไปกับการรักษาพยาบาลแบบปกติ โดยกิจกรรมประกอบด้วย การสอนการทำสมาธิ การฝึกโยคะ การให้สุขศึกษาด้านโภชนาการ และการให้คำปรึกษาผู้ป่วย เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับการรักษาพยาบาลแบบปกติเพียงอย่างเดียว กลุ่มละ 35 คน นาน 5 เดือน พบว่า กลุ่มที่ได้กิจกรรมแพทย์ทางเลือกมีระดับน้ำตาลในเลือด (Average hemoglobin A1C) ต่ำกว่าก่อนเข้าโครงการร้อยละ 1.69 และลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนกลุ่มควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดก็ลดลงร้อยละ 0.48 แต่ลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ในส่วนคะแนนคุณภาพชีวิตนั้นพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานทั้งสองกลุ่มมีคะแนนคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่มที่ได้กิจกรรมแพทย์ทางเลือกมีคะแนนคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น 12.43 คะแนน กลุ่มควบคุมเพิ่มขึ้น 7.63 คะแนน สรุปโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานด้วยการแพทย์ทางเลือก สามารถจัดกิจกรรมแพทย์ทางเลือกที่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มคะแนนคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พลังทางสถิติ ร้อยละ 80
 
ที่มา
วารสารสำนักการแพทย์ทางเลือก ปี 2552, January-April ปีที่: 2 ฉบับที่ 1 หน้า 39-45
คำสำคัญ
Diabetes mellitus, การให้คำปรึกษา, ผู้ป่วยเบาหวาน, Commentary alternative medicine, Patient care, สมาธิบำบัด, โยคะบำบัด, การแพทย์ทางเลือก