ผลการฝึกกายภาพบำบัดที่บ้านแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเรื้อรังโดยนักกายภาพบำบัด
นันทวัน ปิ่นมาศ*, สาธนีย์ พันธ์กนกพงศ์, วรุณนภา ศรีโสภาพ
Physical Therapy, Department of Rehabilitation, Buddhachinaraj Phitsanulok Hospital
บทคัดย่อ
 
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องหลังออกจากโรงพยาบาล การศึกษาแบบพรรณนาระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเรื้อรังเมื่อได้รับการฟื้นฟูจากนักกายภาพบำบัดที่บ้าน โดยผู้ป่วยสามารถสื่อสารได้ มีผู้ดูแลหลักและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นผู้ช่วยนักกายภาพบำบัดไม่น้อยกว่าวันละ 60 นาทีในวันที่ให้การฟื้นฟูสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 5 สัปดาห์ ประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันและคุณภาพชีวิตด้วยแบบประเมินดัชนีบาร์เธลฉบับภาษาไทยและแบบประเมินคุณภาพชีวิต EQ-5D ก่อนและหลัง เปรียบเทียบค่ามัธยฐานของคะแนนก่อนและหลังฟื้นฟูด้วยการทดสอบ Wilcoxon signed rank กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 พบว่าผู้ป่วย 41 คนหลังฟื้นฟูมีค่ามัธยฐานของคะแนนดัชนีบาร์เธลและค่าคะแนนคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001 ทั้งสองค่า) นั่นคือการฟื้นฟูผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องที่บ้านโดยนักกายภาพบำบัดทำให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้นส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
ที่มา
พุทธชินราชเวชสาร ปี 2555, May-August ปีที่: 29 ฉบับที่ 2 หน้า 190-197
คำสำคัญ
function, Quality of life, คุณภาพชีวิต, Stroke, Rehabilitation, โรคหลอดเลือดสมอง, Home-based physical therapy, กายภาพบำบัดที่บ้าน, การฟื้นฟู, กิจกรรม