ต้นทุนต่อหน่วยบริการของโรงพยาบาลบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
จันทนา สุขรัตน์อมรกุล
งานยุทธศาสตร์และสารสนเทศทางการแพทย์ โรงพยาบาลบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
บทคัดย่อ
 
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนต่อหน่วยบริการของโรงพยาบาลบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการศึกษาในมุมของผู้ให้บริการ ศึกษาโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลังซึ่งเป็นข้อมูลของเดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2552 ประชากรที่ใช้ในการวิจัยเป็นหน่วยต้นทุนของโรงพยาบาลบางคล้า จำนวน 14 หน่วยบริการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) หน่วยต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 2) หน่วยต้นทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ และ 3) หน่วยต้นทุนที่ให้บริการผู้ป่วย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบบันทึกข้อมูลต้นทุนค่าแรง ต้นทุนค่าวัสดุและต้นทุนค่าลงทุน ซึ่งต้นทุนค่าลงทุนนั้นไม่รวมค่าเสื่อมราคาของสิ่งก่อสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติร้อยละ และการกระจายต้นทุน ใช้วิธีสมการพีชคณิตเส้นตรง
ผลการวิจัยพบว่าต้นทุนรวมโดยตรงของหน่วยต้นทุน โรงพยาบาลบางคล้า ในช่วง 6 เดือน ที่ศึกษา มีมูลค่ารวม 18,279,441.79 บาท โดยสัดส่วนต้นทุนค่าแรง: ค่าวัสดุ: ค่าลงทุน เท่ากับ 76.32: 18.66: 5.02 โดยหน่วยบริการที่มีต้นทุนรวมโดยตรงสูงที่สุดคือ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป (ร้อยละ 18.18) รองลงมาคือ งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (ร้อยละ 11.70) และงานผู้ป่วยใน (ร้อยละ11.10) เมื่อจำแนกตามชนิดของต้นทุน พบว่าหน่วยบริการที่มีต้นทุนค่าแรงสูงที่สุดคือ งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (ร้อยละ 13.64) หน่วยบริการที่มีต้นทุนค่าวัสดุสูงที่สุดคือ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป (ร้อยละ 33.57) และหน่วยบริการที่มีต้นทุนค่าลงทุนสูงที่สุดคือ ฝ่ายบริหารงานทั่วไปเช่นกัน (ร้อยละ 46.83) ส่วนต้นทุนต่อหน่วยของหน่วยบริการที่ให้บริการผู้ป่วย พบว่าหน่วยบริการที่มีต้นทุนต่อครั้งสูงที่สุด คือ ฝ่ายเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน (1,004.26 บาท) รองลงมาคือ งานทันตกรรม (574.27 บาท) ส่วนหน่วยบริการที่มีต้นทุนต่อครั้งต่ำที่สุดคือ งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (215.77 บาท) สำหรับงานผู้ป่วยใน พบว่ามีต้นทุนต่อราย 2,689.60 บาท และมีต้นทุนต่อวันนอน 1,074.93 บาท
จากผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าต้นทุนส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลบางคล้าเป็นต้นทุนค่าแรง ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดแนวทางในการลดต้นทุนดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยการใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
 
ที่มา
วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ปี 2553, March-August ปีที่: 21 ฉบับที่ 2 หน้า 36-49
คำสำคัญ
ต้นทุนต่อหน่วยบริการ, Unit cost of service