ผลของโปรแกรมสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตนและคีตมวยไทยต่อสมรรถภาพทางกายของทหารที่มีนํ้าหนักเกินมาตรฐาน
กาญจนา สุขแก้ว, ชมนาด วรรณพรศิริ, ร.อ.หญิง ธันย์ชนก กวาวปัญญา*
ค่ายพิชัยดาบหัก จังหวัดอุตรดิตถ์
บทคัดย่อ
 
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตนและคีตมวยไทยต่อสมรรถภาพทางกายของทหารที่มีนํ้าหนักเกินมาตรฐาน ในพื้นที่จังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ กลุ่มตัวอย่าง คือทหารที่มีนํ้าหนักเกินมาตรฐาน สุ่มเพื่อแบ่งกลุ่มทดลอง จำนวน 26 นาย และกลุ่มควบคุมจำนวน 26 นาย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตนและคีตมวยไทย กลุ่มควบคุมได้รับคำแนะนำตามปกติ เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป โปรแกรมกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตนและคีตมวยไทย และเครื่องมือทดสอบสมรรถภาพทางกาย 6 รายการ ทั้งสองกลุ่มได้รับการทดสอบสมรรถภาพทางกาย ก่อนและหลังการเข้าร่วมโปรแกรม 8 และ 12 สัปดาห์ ผลการวิจัย พบว่า
1. ค่าเฉลี่ยสมรรถภาพทางกายของทหารกลุ่มทดลอง พบว่าค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกายช่วงเวลาของการวัด คือ ก่อนการทดลอง ระหว่างการทดลอง 8 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ ไม่แตกต่างกัน ส่วนค่าเฉลี่ยไขมันในร่างกายค่าเฉลี่ยสมรรถภาพการใช้ออกซิเจน ค่าเฉลี่ยการวิดพื้น ค่าเฉลี่ยแรงบีบมือ และค่าเฉลี่ยการงอตัวไปข้างหน้า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
2. ค่าเฉลี่ยสมรรถภาพทางกายของทหารกลุ่ม ควบคุม พบว่าค่าเฉลี่ยไขมันในร่างกาย ค่าเฉลี่ยสมรรถภาพการใช้ออกซิเจน ค่าเฉลี่ยวิดพื้น ค่าเฉลี่ยแรงบีบมือ และค่าเฉลี่ยการงอตัวไปข้างหน้าไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย ช่วงเวลาของการวัด คือ ก่อนการทดลอง ระหว่างการทดลอง 8 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ แตกต่างกันกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
3. ค่าเฉลี่ยปริมาณไขมันในร่างกาย ค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย ค่าเฉลี่ยสมรรถภาพการใช้ออกซิเจน ค่าเฉลี่ยวิดพื้น ค่าเฉลี่ยแรงบีบมือ และค่าเฉลี่ยงอตัวไปข้างหน้าในช่วงเวลาก่อนการทดลอง พบว่าในกลุ่มทดลองไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมค่าเฉลี่ยปริมาณไขมันในร่างกาย ค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย ค่าเฉลี่ยสมรรถภาพการใช้ออกซิเจน และค่าเฉลี่ยแรงบีบมือ ในช่วงเวลาระหว่างการทดลอง 8 สัปดาห์ พบว่าในกลุ่มทดลองดีกว่ากลุ่มควบคุม ส่วนค่าเฉลี่ยการวิดพื้นและค่าเฉลี่ยการงอตัวไปข้างหน้าของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน และค่าเฉลี่ยไขมันในร่างกาย ค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย ค่าเฉลี่ยสมรรถภาพการใช้ออกซิเจน ค่าเฉลี่ยการวิดพื้น ค่าเฉลี่ยแรงบีบมือ และค่าเฉลี่ยการงอตัวไปข้างหน้า ในช่วงเวลาหลังการทดลอง 12 สัปดาห์พบว่าในกลุ่มทดลองดีกว่ากลุ่มควบคุม
 
ที่มา
วารสารการพยาบาลและสุขภาพ ปี 2553, May-August ปีที่: 4 ฉบับที่ 2 หน้า 58-71
คำสำคัญ
Self – efficacy and Keta Mouythai program, Physical fitness, Overweight soldiers, โปรแกรมสมรรถนะแห่งตนและคีตมวยไทย, สมรรถภาพทางกาย, นํ้าหนักเกินมาตรฐาน