อาการไม่พึงประสงค์และผลของการรักษาวัณโรคสูตรยาระยะสั้นเปรียบเทียบระหว่างการให้ยารักษาวันละครั้ง และการให้ยาแยกวันละสองครั้ง
กฤษณา ชีวะกุล, เจริญ ชูโชติถาวร*, เบญจวรรณ สายพันธุ์, โฉมนภา กิตติศัพท์
Department of Respiratory Medicine, Central Chest Institute of Thailand, Nonthaburi 11000, Thailand; Phone: 08-1809-1909; E-mail: charojnj@hotmail.com
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์และผลของการรักษาผู้ป่วยวัณโรคด้วยสูตรยามาตรฐานระยะสั้นหกเดือนเปรียบเทียบระหว่างการให้ยาวันละครั้ง และการให้ยาวันละสองครั้ง-เช้าและเย็น
วัสดุและวิธีการ: ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ของคลินิกรักษาวัณโรคแบบมีพี่เลี้ยง สถาบันโรคทรวงอก จะได้รับการสุ่มเพื่อรับยารักษาวัณโรคสูตรยามาตรฐานวันละครั้ง หรือ เช้า-เย็น โดยให้ไอโซนัยอะซิดร่วมกับไรแฟมปิซินตอนเช้า และพัยราซินามัยด์ร่วมกับอีแธมบิวตอลตอนเย็น ในระยะรักษาเข้มข้น 2 เดือน ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ทุก 2 สัปดาห์ และประเมินผลการรักษาเมื่อสิ้นสุดการรักษา 6 เดือน
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่จำนวน 122 ราย เข้าร่วมในการศึกษาโดยมีผู้ป่วยที่ได้รับในแต่ละกลุ่มจำนวน 61 ราย ‘ผู้ป่วยวัณโรคกลุ่มที่ได้รับยาแยกเช้าและเย็นมีอัตราการรักษาหายร้อยละ 84.6 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มป่วยที่ได้รับยาวันละครั้ง (หายร้อยละ 72.9) อย่างไม่มีนัยสำคัญ เนื่องจากอัตราการย้ายการรักษาสูงถึงร้อยละ 13.1 ในผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยาวันละครั้ง ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยาเช้าและเย็นมีอาการไม่พึงประสงค์ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับยาวันละครั้ง โดยเฉพาะอาการทางระบบทางเดินอาหารและผื่นแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป: การรักษาวัณโรคด้วยสูตรยาระยะสั้นแบบให้ยาเช้าและเย็นมีผลการรักษาเทียบเท่าการรักษาแบบให้ยาวันละครั้ง และอาการไม่พึงประสงค์ไม่แตกต่างจากการให้ยาวันละครั้ง
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2555, August ปีที่: 95 ฉบับที่ Suppl 8 หน้า S1-S5
คำสำคัญ
Pulmonary Tuberculosis, Single daily, Split drug, Short course regimen