การศึกษาประสิทธิภาพของ pregabalin ในการลดความต้องการยา morphine เพื่อลดปวดหลังการผ่าตัด off-pump coronary artery bypass (OPCAB)
กรกพร คุณาวิศรุต*, สมชาย เวียงธีรวัฒน์, ธีรวัฒน์ ชลาชีวะ, สุชาวดี ธาดากุลธรรม, น้ำทิพย์ ดิษฐภู่, บุญทิวา ปุรินทราภิบาล, เยาวลักษณ์ สมบัติทิพย์
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 10400
บทคัดย่อ
บทนำ: ปัจจุบันพบว่าประมาณ 80% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด ยังคงมีความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดซึ่งความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดนี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดเรื้อรังในอนาคต การให้ยาแก้ปวดกลุ่ม opioids แม้ว่าจะใช้ระงับปวดได้มีประสิทธิภาพดี แต่ก็ยังมีผลข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืดความดันเลือดตก หายใจช้า และง่วงซึม ในปัจจุบันจึงมีการนำเอาแนวความคิดในเรื่อง multimodal therapy คือการใช้ยาแก้ปวดหลายๆ ชนิดที่มีกลไกในการระงับปวดต่างกันเพื่อลดปริมาณยาที่ใช้และลดผลข้างเคียงจากยากลุ่ม opioids พบว่ายากลุ่ม α2-δ subunit calcium channel ligands เช่น gabapentin มีฤทธิ์ยับยั้งnociceptive activity ทั้งที่ระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย เชื่อว่าการยับยั้ง nociceptive process เกี่ยวข้องกับกระบวนการ central sensitization การศึกษานี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพของ pregabalin ในการระงับปวด โดยวัดจากความต้องการ morphine ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด OPCAB ระดับความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด และผลข้างเคียงจากการได้รับการบริหารยา วิธีการศึกษา: ผู้ป่วยที่มาเข้ารับการผ่าตัด OPCABทั้งหมด 60 คน กลุ่มศึกษาจะได้รับยา pregabalin 150 มก. ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับยาหลอกเช้าวันผ่าตัดเมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัดวัดปริมาณ morphine ที่ผู้ป่วยได้รับ ประเมินระดับความเจ็บปวดทั้งขณะพักและลุกนั่งบนเตียง และประเมินผลข้างเคียงของยา ผลการศึกษา: พบว่าปริมาณ morphine ที่ใช้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัดทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มที่ได้รับยา pregabalin มีระดับความเจ็บปวดขณะพักน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาที่เวลา 12, 24, 36 และ 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด และมีระดับความเจ็บปวดขณะลุกนั่งบนเตียงน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาที่ 36 และ 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับผลข้างเคียงจากการบริหารยา พบว่ากลุ่มที่ได้รับ pregabalin มีอุบัติการณ์ของ nausea, somnolence, lightheadedness, dizziness น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปผลการศึกษา: pregabalin สามารถใช้เป็นยาเสริมเพื่อลดระดับความเจ็บปวดในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด OPCAB และลดผลข้างเคียงจากการบริหารยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
 
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2555, July-September ปีที่: 38 ฉบับที่ 3 หน้า 187-195
คำสำคัญ
Post operative pain, Pregabalin, ความเจ็บปวดหลังผ่าตัด, off-pump coronary artery bypass (OPCAB), การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม