การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดและการออกกำลังกายที่บ้านต่อสมรรถภาพปอดและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลนาน้อย
กัลยาณี โนอินทร์*, นิดดา อายะวรรณา, บัวมัน ถาเมือง, กัลยา คำมอญ, วรินธร ตนะทิพย์, พรรณนิภา พันธ์พานิช, ปิยดา ขุนชุม, สุชีรา สิทธิมงคล
โรงพยาบาลนาน้อย จังหวัดน่าน
บทคัดย่อ
                การศึกษากลุ่มทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด โดยการออกกำลังกายที่บ้านคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มารับบริการในคลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลนาน้อย จำนวน 10 ราย ระยะเวลาดำเนินการศึกษาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 เครื่องมือในการทดลองคือ โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดและการออกกำลังกายที่บ้าน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง แบบวัดดัชนีคุณภาพชีวิต แบบประเมินระดับความรุนแรงของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แบบบันทึกการออกกำลังกายที่บ้าน แบบบันทึกผลการทดสอบสไปโรเมดรีย์ และเครื่องมือวัดสมรรถภาพปอด วัดผลก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ พิสัย ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานทดสอบความแตกต่างโดยใช้สถิติ paired t-test ผลการศึกษาพบว่า สมรรถภาพปอด (FEV1, FEV1/FVC,  PEF) ของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหลังเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดและการออกกำลังกายที่บ้าน ดีกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดและการออกกำลังกายที่บ้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหลังเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดและการออกกำลังกายที่บ้าน ดีกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดและการออกกำลังกายที่บ้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 การฟื้ฟูสมรรถภาพปอดในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยใช้โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพปอดและการออกกำลังกายที่บ้าน ซึ่งได้ประยุกต์ใช้อุปกรณ์ประกอบการบริหารร่างกายที่หาง่ายและราคาถูก การเปิดโอกาสให้ญาติเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและการกระตุ้นให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามโปรแกรม การเยี่ยมบ้านและการนิเทศติดตามโดยทีมสุขภาพ ช่วยทำให้ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีอาการเหนื่อยหอบลดลง มีสมรรถภาพปอดและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2552, December ปีที่: 34 ฉบับที่ 12 หน้า 765-772
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, copd, Exercise, ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, home-based pulmonary rehabilitation, การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดและการออกกำลังกายที่บ้าน