ประสิทธิผลของโปรแกรมการออกกำลังกายโดยใช้วิธีกำกับตนเองในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวและสมองขาดเลือดไม่รุนแรง
วัลย์ลดา ฉันท์เรืองวณิชย์*, สายพิณ เกษมกิจวัฒนา, ชื่นชม เจริญยุทธ, สมชาย โตวณะบุตร, ฉกาจ ผ่องอักษร
ภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้เป็นการทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรมการออกกำลังกายโดยใช้วิธีกำกับตนเองต่อความแข็งแรง และปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวและสมองขาดเลือดไม่รุนแรง โดยใช้วิธี randomized controlled trial กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวและภาวะสมองขาดเลือดไม่รุนแรงของสถาบันประสาทวิทยา ที่มีการออกกำลังกายน้อยกว่า 1,000 กิโลแคลอรี่ต่อสัปดาห์ ซึ่งได้รับการสุ่มตัวอย่างเพื่อเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม (กลุ่มละ 31 ราย) ประสิทธิผลของโปรแกรมวัดด้วย ระยะทางการเดิน 6 นาที ความพึงพอใจต่อผลของการออกกำลังกาย รวมทั้งวัดอัตราเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต โคเลสเตอรอลโดยรวม เอชดีแอลโคเลสเตอรอล และไฟบริโนเจน
                ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีระยะทางการเดิน 6 นาที และมีความพึงพอใจต่อผลของการออกกำลังกาย ภายหลังเข้าโปรแกรม 6 สัปดาห์ และ 12 สัปดาห์ มากกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01) และมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.01 และ p<.05 ตามลำดับ)  กลุ่มทดลองมีอัตราของหัวใจ และความดันโลหิต ภายหลังเข้าโปรแกรม 12 สัปดาห์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.01 และ p< .05 ตามลำดับ) แต่ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม นอกจากนั้นไม่พบความแตกต่างของค่าโคเลสเตอรอลโดยรวม เอชดีแอลโคเลสเตอรอล และไฟบริโนเจนระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ดังนั้น จึงควรนำโปรแกรมไปใช้ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันการเกิด โรคหลอดเลือดสมองให้แก่ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวและสมองขาดเลือดไม่รุนแรง
 
ที่มา
วารสารวิจัยทางการพยาบาล ปี 2549, April - June ปีที่: 10 ฉบับที่ 3 หน้า 165-179
คำสำคัญ
Randomized controlled trial, การศึกษาเชิงทดลอง, Physical fitness, minor stroke, self-regulated exercise program, transient ischemic attack, ความแข็งแรง, โปรแกรมการออกกำลังกายโดยใช้วิธีกำกับตนเอง, ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว, ภาวะสมองขาดเลือดไม่รุนแรง