คุณภาพชีวิตของผู้ปกครองเด็กพัฒนาการช้า
กาญจนา คูณรังษีสมบูรณ์
สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:  เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ปกครองเด็กพัฒนาการช้าและศึกษาความแตกต่างของระดับตัวแปรด้านต่างๆ กับคุณภาพชีวิตของผู้ปกครองเด็กพัฒนาการช้า 
วัสดุและวิธีการ: ผู้ปกครองเด็กพัฒนาการช้าที่มารับบริการที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จำนวน 159 คน เก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนพฤศจิกายน – เดือนธันวาคม 2554 แบบสอบถาม ประกอบด้วย 1) ข้อมูลทั่วไปของครอบครัวเด็กพัฒนาการช้า 2) ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กพัฒนาการช้า และ 3) แบบชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ  26  ตัวชี้วัดฉบับภาษาไทย  โดยใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติร้อยละ และค่าเฉลี่ย 
ผลการศึกษา:  พบว่าการรับรู้ระดับคุณภาพชีวิตของผู้ปกครองเด็กพัฒนาการช้าส่วนใหญ่ ครอบครัวมีระดับคุณภาพชีวิตปานกลาง (ร้อยละ 62.9) รองลงมาคิดว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดี (ร้อยละ35.8)
               คุณภาพชีวิตของครอบครัวเด็กพัฒนาการช้าแยกตามองค์ประกอบทั้ง 4  ด้าน พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกาย ด้านจิตใจ ด้านสัมพันธภาพทางสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมโดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง  ร้อยละ  59.7, 49.1, 62.3 และ 70.4 ตามลำดับ และมีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 62.9 และพบว่าตัวแปรเหล่านี้ไดแก่โรคประจำตัว, อาชีพ, ความเพียงพอของรายได้ของครอบครัวและปัญหาด้านการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ปกครองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 
สรุป: คุณภาพชีวิตของผู้ปกครองเด็กพัฒนาการช้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นส่วนน้อย  ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต ได้แก่ โรคประจำตัว, อาชีพ, ความเพียงพอของรายได้ของครอบครัวและปัญหาด้านการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
 
ที่มา
วารสารสวนปรุง ปี 2554, September-December ปีที่: 27 ฉบับที่ 3 หน้า 5-16
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, delayed development, parents, เด็กพัฒนาการช้า, ผู้ปกครอง