ประสิทธิภาพของการสอนญาติผู้ป่วยหลังผ่าตัดตาต้อกระจกโดยใช้สื่อวีดีทัศน์ หอผู้ป่วยโสตศอนาสิกและจักษุโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
พัชราภรณ์ วิริยะประสพโชค*, ศิลปะ ไชยขันธ์
งานหอผู้ป่วยโสตศอนาสิกและจักขุ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: โรคต้อกระจกเป็นโรคที่พบบ่อย อันดับ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคทางตาในหอผู้ป่วยโสตศอนาสิก จักษุ ที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดลอกต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียม (เฉลี่ย 8-10 รายต่อวัน) พยาบาลต้องเตรียมความพร้อมผู้ป่วยและญาติทุกรายก่อนและหลังผ่าตัด โดยเน้นการสอนผู้ดูแลให้สามารถปฏิบัติถูกต้องเมื่อผู้ป่วยกลับบ้านเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน การใช้สื่อวีดีทัศน์ช่วยสอนการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดในด้านการเช็ดตา และหยอดตาที่มีภาพและเสียง เป็นวิธีหนึ่งที่น่าจะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ของญาติผู้ป่วย รวมทั้งสามารถนำไปใช้ทบทวนการปฏิบัติเมื่อกลับบ้านได้ตามต้องการ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลการสอนระหว่างการใช้สื่อวีดีทัศน์ช่วยสอน กับพยาบาลสอนการปฏิบัติของผู้ดูแลด้านการเช็ดตาและหยอดตาในผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดต้อกระจก
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (action research) ในญาติผู้ป่วยโรคต้องกระจกที่แพทย์นัดผู้ป่วยมาทำผ่าตัดต้อกระจกครั้งแรกในหอผู้ป่วยโสตศอนาสิกและจักษุโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ รูปแบบการศึกษาเป็นแบบ Randomized controlled intervention study โดยวิธีสุ่มเข้ากลุ่มแบบบล็อกและเปิดซองปิดผนึกแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม เพื่อเข้าสู่โปรแกรมการสอนให้มีความรู้ ความเข้าใจในการเช็ดตาและหยอดตา คือ สอนสาธิตโดยพยาบาล และสอนโดยใช้สื่อวีดีทัศน์ ติดตามประเมินผลทันทีหลังการสอนทั้ง 2 กลุ่ม โดยใช้แบบประเมินการปฏิบัติด้านการเช็ดตาและหยอดตา เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2554 ถึง 31 พฤษภาคม พ.ศ.2555 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มโดยใช้สถิติ exact probability test และ ranksum test
ผลการศึกษา: ญาติผู้ป่วยทั้งหมด 369 ราย สุ่มเข้ากลุ่มได้กลุ่มทดลองสอนโดยใช้สื่อวีดีทัศน์จำนวน 177 ราย และกลุ่มควบคุมสอนโดยพยาบาล จำนวน 192 ราย กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายและเพศหญิงในสัดส่วนไม่แตกต่างกัน ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยอายุ 41-60 ปี ผลการปฏิบัติของญาติผู้ป่วยด้านการเช็ดตา ระหว่างกลุ่มที่ใช้สื่อวีดีทัศน์สอนและพยาบาลสอนเมื่อจำแนกเป็นรายข้อพบว่า การล้างมือก่อนเช็ดตา (p = 0.034) และการเตรียมสำลีเช็ดตา (p = 0.019) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่มวีดีทัศน์สอนปฏิบัติได้ดีกว่า ส่วนการเช็ดเปลือกตาล่าง (p = 0.004) การเช็ดขอบตาล่างก้อนที่ 1 (p = 0.035) และการเช็ดขอบตาล่างก้อนที่ 2 (p = 0.029) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่มพยาบาลสอนปฏิบัติได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามการเตรียมอุปกรณ์เช็ดตา การแกะที่ครอบตา การเช็ดเปลือกตาบน การเช็ดขอบตาบนก้อนที่ 1 การเช็ดขอบตาบนก้อนที่ 2 และผลการปฏิบัติด้านการเช็ดตาในภาพรวมของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน สำหรับการปฏิบัติด้านการหยอดตา ระหว่างกลุ่มที่ใช้สื่อวีดีทัศน์สอนและพยาบาลสอน เมื่อจำแนกเป็นรายข้อพบว่า การล้างมือ (p = 0.001) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่มวีดีทัศน์สอนปฏิบัติได้ดีกว่า ส่วนการหยอดตา (p < 0.001) และการปิดฝาขวดยา (p = 0.014) มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่มพยาบาลสอนปฏิบัติได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การจัดทำก่อนหยอดตา การเก็บยาหยอดตา และผลการปฏิบัติด้านการหยอดตาในภาพรวมของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน
สรุปผลและข้อเสนอแนะ:  ผลการใช้สื่อวีดีทัศน์สอนไม่มีความแตกต่างกับพยาบาลสอน จึงใช้สื่อวีดีทัศน์สอนญาติผู้ป่วยโรคต้อกระจกด้านการเช็ดตา หยอดตาหลังผ่าตัดแทนการสอนของพยาบาลได้ และญาติผู้ป่วยสามารถนำสื่อวีดีทัศน์ไปใช้ประโยชน์เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านได้ รวมถึงพยาบาลสามารถใช้สื่อวีดีทัศน์เป็นมาตรฐานการสอนเดียวกันแก่ญาติผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้อกระจก
 
 
ที่มา
เชียงรายเวชสาร ปี 2555, ปีที่: 4 ฉบับที่ 2 หน้า 43-53
คำสำคัญ
effectiveness, ประสิทธิภาพ, Cataract extraction, Video instruction, ผ่าตัดต้อกระจก, สื่อวีดีทัศน์