คุณภาพชีวิตระยะยาวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิด: กรณีศึกษาในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
Thassanan Sirisatheanrooch*, Voravit Chittihavorn, โขมพักตร์ มณีวัต
CVT Unit , Surgery division, Faculty of Medicine, Prince of Songkhla University
บทคัดย่อ
 
                การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิดในระยะหลัง 2 ปีขึ้นไป คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จำนวน 218 รายที่มารับการตรวจตามนัดแผนกศัลยธรรมผู้ป่วยนอก คลินิกศัลยศาสตร์หัวใจหลอดเลือดและทรวงอก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2554 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1)แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล ด้านข้อมูลทั่วไปด้านสุขภาพ และความสามารถในการทำกิจกรรม และ 2)แบบสอบถามคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย มีองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา
                ผลการศึกษาพบว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิดในระยะหลัง 2 ปี ขึ้นไปโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (มีคะแนนเฉลี่ย 87.35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 130 คะแนน) และเมื่อจำแนกตามรายด้านพบว่าคุณภาพชีวิตด้านร่างกาย ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับปานกลาง ในขณะที่คุณภาพชีวิตด้านจิตใจของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี การที่ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจและรอดชีวิตในระยะยาวมีการรบรู้คุณภาพชีวิตที่ดีด้านจิตใจ นับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ให้คงความสมดุลไว้ได้
                ข้อเสนอแนะ: ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยด้านอื่นที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิดในระยะยาว ตั้งแต่ระยะก่อนการผ่าตัดเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดให้ดียิ่งขึ้น
 
ที่มา
วารสารพยาบาลโรคหัวใจและทรวงอก ปี 2556, January-June ปีที่: 23 ฉบับที่ 1 หน้า 33-34
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, Open Heart Surgery Patient, Long-Term Care, ผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิด, การดูแลระยะยาว