การวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลการยึดปิดแผลผ่าตัดถ่ายปลูกหนังด้วยวิธีปกติกับวิธีปิดแผลความดันลบ
รัชนี ยังไพโรจน์
กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
บทคัดย่อ
                ผิวหนังมีบทบาทสำคัญในการปกป้องร่างกาย การสูญเสียเนื้อเยื่อและผิวหนังทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่ การปลูกถ่ายผิวหนัง (split-thickness skin graft: STSG) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ การผ่าตัด STSG เป็นวิธีที่ได้ผลดี รวดเร็ว ปัญหาสำคัญในการผ่าตัด STSG คือ การปลูกถ่ายผิวหนังไม่สำเร็จ (graft failure) จึงมีการใช้การปิดแผลแบบความดันลบ (negative pressure wound therapy: NPWT หรือ vacuum-assisted closure device: VAC) เข้ามาช่วย ทำให้เพิ่มความสำเร็จของการปลูกถ่ายผิวหนัง (graft take percentage) มากขึ้นแต่ต้องใช้เครื่องมือเพิ่มขึ้นในการผ่าตัดและการดูแลแผลหลังผ่าตัด ซึ่งหมายถึง ค่ารักษาที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จึงทำการศึกษาต้นทุนประสิทธิผล (cost-effectiveness) STSG ด้วยวิธีปกติ (cotton bolus or tie-over: BOLUS) กับวิธีปิดแผลความดันลบ NPWT ศึกษาแบบย้อนหลังโดยเก็บข้อมูลย้อนหลังจากบัตรบันทึกการตรวจผู้ป่วยนอกและเวชระเบียนผู้ป่วยในทุกรายที่ผ่าตัด STSG โดยศัลยแพทย์ทั่วไปโรงพยาบาลสมุทรสาคร ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 – 29 กุมภาพันธ์ 2555 รวบรวมข้อมูลพื้นฐานและค่าใช้จ่ายแล้วนำมาวิเคราะห์หานัยสำคัญทางสถิติ พบว่า ผู้ป่วยทั้งหมด 78 ราย ผ่าตัด STSG โดยวิธี BOLUS 48 ราย (ร้อยละ 61.54) วิธี NPWT 30 ราย (ร้อยละ 38.46) ตำแหน่งที่ทำการผ่าตัดตั้งแต่เข่าลงไปรวม 59 ราย (ร้อยละ 75.64) ขา 34 ราย (ร้อยละ 43.59) ข้อเท้าและเท้า 25 ราย (ร้อยละ 32.05)  graft take percentage BOLUS ร้อยละ 70-100 (86.7±7.0) NPWT ร้อยละ 90-100 (97.5±2.5) ค่ารักษาเฉลี่ย BOLUS 5416.3 บาท NPWT 7281.6 บาท การทำ NPWT เพิ่ม graft take percentage เฉลี่ยร้อยละ 11.2 เทียบกับ BOLUS ตำแหน่งแผลที่ลำตัวและต้นขาเพิ่ม graft take percentage เฉลี่ยร้อยละ 6.99 เทียบกับข้อเท้าและขา อัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลอย่างหยาบ (The crude (unadjusted) average cost-effectiveness ratio) ของ NPWT เทียบกับ BOLUS 172.7 บาทต่อร้อยละ 1 (1865.4 บาทต่อร้อยละ 10.8) ของ graft take ที่เพิ่มขึ้น ผลการศึกษาสรุปว่าการทำ NPWT เพิ่ม graft take percentage เฉลี่ยร้อยละ 11.2 เทียบกับ BOLUS The crude (unadjusted) average cost-effectiveness ratio ของ NPWT เทียบกับ BOLUS 172.7 บาทต่อร้อยละ 1 ของ graft take ที่เพิ่มขึ้น
 
ที่มา
วารสารวิชาการ รพศ/รพท เขต 4 ปี 2555, January-April ปีที่: 14 ฉบับที่ 1 หน้า 8-15
คำสำคัญ
cost-effectiveness, ต้นทุนประสิทธิผล, STSG, BOLUS, NPWT, VAC, graft failure, graft take, การปลูกถ่ายผิวหนัง