คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 100 ปี เมืองยาง อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา
ศรินทิพย์ โกนสันเทียะ
กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 100 ปี เมืองยาง
บทคัดย่อ
                เบาหวานเป็นโรคที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การวิจัยเชิงสำรวจนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานจำแนกตามข้อมูลลักษณะส่วนบุคคล กลุ่มตัวอย่างคือผู้เป็นเบาหวานที่มารักษาที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 100 ปี เมืองยาง จำนวน 233 คน ซึ่งได้มาจากวิธีการสุ่มอย่างง่าย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นเป็นแบบวัดมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 19 ข้อ ทดสอบความเชื่อมั่นในผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 30 ราย ได้ค่าสัมประสิทธิ์ครอนบาคแอลฟาเท่ากับ .77 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบ ที และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และเปรียบเทียบรายคู่ด้วยวิธี Scheffe’s ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 76.8) อายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 49.8) มีสถานภาพสมรสคู่ (ร้อยละ 79.8) จบระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 81.1) ประกอบอาชีพเกษตรกร (ร้อยละ 71.2) มีรายได้ครอบครัวต่ำกว่า 5,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 83.3) ระยะเวลาการเป็นเบาหวานต่ำกว่า 5 ปี (ร้อยละ 50.2) และควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี (ร้อยละ 56.7) และมีคุณภาพชีวิตในภาพรวมอยู่ในระดับค่อนข้างดี (M = 3.65, SD = 0.35) ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่มีเพศและรายได้ครอบครัวต่างกันคุณภาพชีวิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 2.09, p = .038; F = 5.37, p =.005, ตามลำดับ) ส่วนผู้ที่มีอายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ ระยะเวลาการเป็นเบาหวานและระดับน้ำตาลในเลือดต่างกันมีคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยเบาหวานควรจัดโครงการหรือกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวาน โดยคำนึงถึงเพศและรายได้ครอบครัวของผู้ป่วยเบาหวานเป็นสำคัญ
ที่มา
วารสารวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา ปี 2554, Januray-June ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 31-44
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, เบาหวาน, คุณภาพชี่วิต, Diabetes Melitus