ผลของโปรแกรมการดูแลในระยะเปลี่ยนผ่านสำหรับมารดาและทารกเกิดก่อนกำหนด
รุ่งทิวา หวังเรืองสถิตย์*, วิจิตร ศรีสุพรรณ, วิลาวัณย์ พิเชียรเสถียร, จรัสศรี เย็นบุตร
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเทศไทย 110 ถ.อินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบผลของโปรแกรมการดูแลในระยะเปลี่ยนผ่านสำหรับมารดาของทารกเกิดก่อนกำหนดต่อการเปลี่ยนผ่านของมารดา ความเจ็บป่วยทางกาย การเจริญเติบโต และพัฒนาการของทารก กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดา จำนวน 72 ราย และทารกเกิดก่อนกำหนด จำนวน 81 ราย สุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการดูแลในระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งประกอบด้วย การเตรียมมารดา การเตรียมผู้ช่วยมารดา การเตรียมเจ้าหน้าที่ในหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมเพื่อเป็นแหล่งประโยชน์ให้กับมารดาภายหลังจำหน่ายทารกออกจากโรงพยาบาล กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติจากพยาบาลประจำหอผู้ป่วย
                ผลการวิจัยพบว่ามารดาในกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนการเปลี่ยนผ่านมากกว่ามารดาในกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 8 และ 16 ภายหลังจำหน่ายทารกออกจากโรงพยาบาล จำนวนทารกในกลุ่มทดลองมีการเจ็บป่วยทางกายน้อยกว่าทารกในกลุ่มที่ควบคุมในสัปดาห์ที่ 8 และ 16 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ความยาวของทารกในกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นมากกว่าทารกในกลุ่มควบคุมในสัปดาห์ที่ 8 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแต่ในสัปดาห์ที่ 16 ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ น้ำหนัก และเส้นรอบศีรษะที่เพิ่มขึ้น และจำนวนทารกที่มีพัฒนาการปกติระหว่างกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลองทั้งในสัปดาห์ที่ 8 และสัปดาห์ที่ 16 ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
Pacific Rim International Journal of Nursing Research ปี 2555, October-December ปีที่: 16 ฉบับที่ 4 หน้า 294-312
คำสำคัญ
Mothers of premature infants, Transitional care, Premature infants’ post-discharge illness, growth, and development, มารดาของทารกเกิดก่อนกำหนด, การดูแลในระยะเปลี่ยนผ่าน, การเจ็บป่วย, การเจริญเติบโต และพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนดภายหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล