ผลของการออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขน การเดิน และการเดินตามด้วยการแกว่งแขนที่มีต่อสุขสมรรถนะของผู้สูงอายุหญิง
เกศินี แซ่เลา*, วิชิต คนึงสุขเกษม
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
                การที่มีอายุมากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหว และสมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุลดลง การแกว่งแขนและการเดินเป็นการออกกำลังกายที่สามารถปฏิบัติได้ง่ายและสะดวกอีกทั้งยังเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุหญิง ผู้วิจัยจึงต้องศึกษาผลของการออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขนและการเดินที่มีต่อสุขสมรรถนะผู้สูงอายุหญิง
วัตถุประสงค์: การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขนการเดินและการเดินตามด้วยการแกว่งแขนที่มีต่อสุขสมรรถนะของผู้สูงอายุหญิง
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างคืออาสาสมัครซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มชมรมผู้สูงอายุฤๅษีดัดตนประยุกต์ศูนย์บริการสาธารณสุข 63 สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย เพศหญิง อายุ 60-69 ปี จำนวน 47 คน ทำการสุ่มอย่างง่ายโดยวิธีจับฉลากเข้ากลุ่ม 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขน จำนวน 15 คน กลุ่มที่ 2 ออกกำลังกายด้วยการเดิน จำนวน 17 คน และกลุ่มที่ 3 ออกกำลังกายด้วยการเดินตามด้วยการออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขนต่อเนื่องกัน จำนวน 15 คน ทำการฝึกตามโปรแกรมที่กำหนดของแต่ละกลุ่มตัวอย่างเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ๆละ 3 วันๆ ละ 50 นาที ผู้วิจัยทำการทดสอบตัวแปรทางสรีรวิทยาตัวแปรทางสุขสมรรถนะและการทรงตัวของทั้ง 3 กลุ่มก่อนการทดลอง หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 4 และหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 8
ผลการวิจัยพบว่า
                1.การเปรียบเทียบระหว่าง 3 กลุ่ม ภายหลังสัปดาห์ที่ 8 พบว่า กลุ่มที่ 1 มีค่าเฉลี่ยความแข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อ และการทรงตัวเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
                2.การเปรียบเทียบก่อนการทดลองและหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 8 พบว่า กลุ่มที่ 1 ค่าเฉลี่ยความแข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อ ความอ่อนตัวของลำตัว และการทรงตัว และกลุ่มที่ 2 ค่าเฉลี่ยความแข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อ และการทรงตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 กลุ่มที่ 3 พบว่าค่าเฉลี่ยของตัวแปรสุขสมรรถนะและการทรงตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุปผลการวิจัย: การออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขนและการเดินในผู้สูงอายุหญิง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสุขสมรรถนะที่ดีขึ้น จึงเหมาะเป็นทางเลือกในการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุได้
ที่มา
วารสารวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ ปี 2555, January-April ปีที่: 13 ฉบับที่ 1 หน้า 92-103
คำสำคัญ
ผู้สูงอายุ, Walking exercise, สุขสมรรถนะ, Arm swing exercise, Health-related physical fitness, The elderly, การออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขน, การออกกำลังกายด้วยการเดิน