ประสิทธิผลของการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวผู้ป่วยวัณโรคปอดด้วยสื่อวีดีโอซีดี โดยทีมสหวิชาชีพโรงพยาบาลอุตรดิตถ์
จันทร์จิรา เศรษฐรกุล, จันทร์จิรา เศรษฐรกุล, ณัฐชา สุคันธมาลา, ดรุณี ม่วงศรีศักดิ์, พัชชาภรณ์ ดำริธรรมเจริญ*, รัตติยา ร่าเริง, เกศแก้ว ทองศิริ
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการให้คำแนะนำปฏิบัติตัวผู้ป่วยวัณโรคปอดด้วยสื่อวีดีโอซีดี
รูปแบบการศึกษา: Randomized controlled trial
สถานที่ศึกษา:  ตึกพิเศษ 2 โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
วิธีการศึกษา: ศึกษาผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มีผลเสมหะพบเชื้อ เขตอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยพิเศษ 2โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ สุ่มให้ได้รับการดูแล 2 แบบ ได้แก่ การดูแลผู้ป่วยแบบเดิม หมายถึง การแนะนำข้อมูลการปฏิบัติตัวและเรื่องยาโดยการใช้รูปภาพเป็นสื่อและพูดแนะนำ และการดูแลแบบใหม่หมายถึง การแนะนำโดยใช้วีดีโอซีดีและพูดแนะนำเพิ่มเติม ประเมินความรู้เรื่องโรควัณโรคโรคยา ปฏิบัติตัว ผลเสมหะก่อนและหลังให้การดูแลผู้ป่วยโดยใช้แบบสัมภาษณ์และแบบสังเกต ช่วงระยะเวลา 14 วัน ที่ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล เก็บข้อมูล 6 เดือน ตั้งแต่ 1 พ.ค. 53- 31ต.ค. 53 และตามผู้ป่วยต่อเนื่องจนกระทั่งรักษาหายโดยใช้สถิติร้อยละ Sign rank test และ Mcnemar การศึกษาครั้งนี้ได้ผ่านคณะกรรมการจริยธรรมของโรงพยาบาลอุตรดิตถ์
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยวัณโรคกลุ่มศึกษาและกลุ่มเปรียบเทียบ 45 ราย ส่วนมากเป็นชาย อายุ 60 ปีขึ้นไป การศึกษาระดับประถมศึกษา อาชีพรับจ้างหรือทำเกษตรกรรม ไม่มีโรคประจำตัว มีประวัติการสูบบุหรี่และดื่มสุรามาก่อน ภายหลังได้รับการรักษาและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว 14 วัน ผู้ป่วยมีความรู้ในเรื่องวัณโรคเพิ่มขึ้น (14.4 และ 12.9 คะแนน) p = 0.012 ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวถูกต้องเพิ่มขึ้น (3 และ 2.8 คะแนน) p = 0.03 ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวระหว่างกินยาวัณโรคเพิ่มขึ้น (12.2 และ10.5 คะแนน) p = 0.013 กลุ่มศึกษาที่มีเสมหะพบเชื้อเปลี่ยนเป็นเสมหะไม่พบเชื้อมีจำนวนมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ (60.9% และ 40.9%) p = 0.209 พบเชื้อน้อยลงในสัดส่วนที่มากกว่า (82.6% และ 68.2%) p = 0.064 ภายหลังติดตามผู้ป่วยเดือนที่ 2 ผลเสมหะพบเชื้อในกลุ่มศึกษาเปลี่ยนเป็นผลเสมหะไม่พบเชื้อมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ (90.91% และ 69.23) p = 0.095 แต่การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน ผู้ป่วยมีเชื้อวัณโรคในเสมหะลดลงมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ (95.45% และ 69.23%) p = 0.015 และภายหลังติดตามผู้ป่วยเดือนที่ 6 ผลเสมหะพบเชื้อในกลุ่มศึกษาเปลี่ยนเป็นผลเสมหะไม่พบเชื้อมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ (90.91% และ 84.62%) p = 0.577
สรุป: การดูแลผู้ป่วยวัณโรคปอดแบบใหม่โดยใช้วีดีโอซีดีสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติมีประสิทธิผลดีกว่าแบบเดิม เพิ่มสมรรถนะในการดูแลตนเองของผู้ป่วยวัณโรคปอดได้ดียิ่งขึ้น จึงควรใช้วีดีโอซีดีในการสอนผู้ป่วยและญาติเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ที่มา
อุตรดิตถ์เวชสาร ปี 2555, September-December ปีที่: 27 ฉบับที่ 3 หน้า 52-61
คำสำคัญ
Pulmonary Tuberculosis, วัณโรค, positive AFB (acid fast bacilli), แบบเดิม, แบบใหม่, เสมหะบวก