ผลของการใช้โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคจิตเภท ที่มารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์
เพ็ญศิริ สมใจ*, วิภาดา คณะไชย, สุบิน สมีน้อย
โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชครินทร์
บทคัดย่อ
                การวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงทดลอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคจิตเภท ที่มารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ในช่วงเดือน เมษายน 2554 – กันยายน 2554 โดยกลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบเจาะจง แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 30 คนและกลุ่มควบคุม จำนวน 30 คน โปรแกรมการทดลองที่ใช้ในการวิจัยคือโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพดี เป็นโปรแกรมที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ให้คำแนะนำปรึกษา และการทำกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจในการดำเนินชีวิต เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพดี และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมการอบรม 8 ครั้ง เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลการวิจัย คือ แบบประเมินระดับคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก ฉบับภาษาไทย ชุด 26 คำถาม
                ผลการวิจัย พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพดี มีค่าเฉลี่ยคะแนนระดับคุณภาพชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพดี และมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.5 (P = 0.000) และจากการที่ผู้ป่วยได้รับโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพดี ทำให้มีค่าเฉลี่ยคะแนนระดับคุณภาพชีวิตหลังจากเข้าโปรแกรม สูงกว่าค่าเฉลี่ยคะแนนระดับคุณภาพชีวิตก่อนเข้าโปรแกรม และมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.5 (P = 0.000) จากการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระตุ้นการฝึกทักษะต่างๆ มีการมอบหมายงานให้ไปปฏิบัติที่บ้าน และให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซักถามข้อสงสัยเพิ่มเติมรวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการดูแลตนเองเพิ่มมากขึ้น สามารถกำหนดเป้าหมาย วางแผนและลงมือปฏิบัติในการดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิตใจ ทางสังคม สามารถยอมรับตนเองได้ ถึงแม้มีโรคเจ็บป่วยแต่สุขภาพดีได้ เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพดี และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ที่มา
วารสารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2555, July-September ปีที่: 30 ฉบับที่ 3 หน้า 113-121