การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลและผลข้างเคียงของสารสกัดกระเจี๊ยบแดงกับ Simvastatin ในการลดระดับไขมันในเลือดในผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูง (การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2)
พรรณภัทร อินทฤทธิ์*, กัมมาล กุมาร ปาวา, อรุณพร อิฐรัตน์, พินิต ชินสร้อย
สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทคัดย่อ
บทนำ: กระเจี๊ยบแดงเป็นสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในทางการแพทย์ อาทิ ฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ขับปัสสาวะ ช่วยยับยั้งภาวะต่อมลูกหมากโต และยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น นอกจากนี้ กระเจี๊ยบแดงยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ถูกนำไปใช้ในการลดภาวะไขมันในเลือดสูง การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลและผลข้างเคียงของสารสกัดกระเจี๊ยบแดงขนาด 1,000 มิลลิกรัมกับ Simvastatin ในการลดระดับไขมันในเลือด เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลและผลข้างเคียงของสารสกัดกระเจี๊ยบแดงขนาด 1,000 มิลลิกรัม Simvastatin ในการลดระดับไขมันในเลือด
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบ double blind randomized controlled trial ในอาสาสมัคร จำนวน 64 ราย ที่มีค่าคอเลสเตอรอลระหว่าง 200-300 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ค่าแอลดีแอลระหว่าง 100-190 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 32 ราย กลุ่มที่ 1 รับประทานสารสกัดกระเจี๊ยบแดง กลุ่มที่ 2 รับประทาน Simvastain ใช้ระยะเวลาการศึกษา 3 เดือน โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้ต้องควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายตามคำแนะนำ
ผลการศึกษา: พบว่า ทั้งสารสกัดกระเจี๊ยบแดงและ Simvastatin สามารถลดคอเลสเตอรอลและแอลดีแอลได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี < 0.05) โดยสารสกัดกระเจี๊ยบแดงลดได้เฉลี่ย 11.27±27.65 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ร้อยละ 4.71) / 8.74 ±19.85 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ร้อยละ 5.65) Simvastatin ลดได้เฉลี่ย 42.24±27.03 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ร้อยละ 17.98) / 31.89±23.64 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ร้อยละ 20.85) ตามลำดับ สารสกัดกระเจี๊ยบแดงไม่มีผลต่อการลดไตรกลีเซอร์ไรด์และการเพิ่มเอชดีแอล ขณะที่ Simvastatin สามารถลดไตรกรีเซอร์ไรด์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี < 0.05) เฉลี่ย 30.62±84.64 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ร้อยละ 15.5) แต่ไม่มีผลเพิ่มเอชดีแอลเช่นกัน ทั้งนี้ไม่พบผลข้างเคียงจากยาที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
สรุป: การรับประทานสารสกัดกระเจี๊ยบแดงขนาด 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน มีแนวโน้มลดคอเลสเตอรอลและแอลดีแอลได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี < 0.05) แต่ลดลงได้น้อยกว่า Simvastatin ผลข้างเคียงจากยาทั้ง 2 กลุ่มพบเพียงเล็กน้อยแต่ไม่เป็นอันตรายรุนแรงต่อชีวิต และอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับสารสกัดกระเจี๊ยบแดงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาขนาดยาที่ใช้ ติดตามผลข้างเคียงจากยาระยะยาว และมีการเปรียบเทียบกับยาหลอกเพื่อนำไปสู่การรักษาระดับไขมันในเลือดสูงที่มีประสิทธิผลต่อไป
ที่มา
ธรรมศาสตร์เวชสาร ปี 2555, July-September ปีที่: 12 ฉบับที่ 3 หน้า 506-517
คำสำคัญ
ไขมันในเลือดสูง, Hypercholesterolemia, Clinical research, Hibiscus sabdariffa Linn., การวิจัยคลินิก, สารสกัดกระเจี๊ยบแดง