ประสิทธิภาพของการใช้โปรแกรมมอนเตสซอรี่ในผู้ป่วยจิตเวชที่มีความพร่องทางสติปัญญา
อัมพร กุลเวชกิจ*, ดวงแก้ว รอดอ่อง, ถาวร ภาวงศ์, สงวน บุญพูน, วรวุฒิ นามแดง
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการใช้โปรแกรมมอนเตสซอรี่ในผู้ป่วยจิตเวชที่มีความพร่องทางสติปัญญา
วิธีการศึกษา: การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบ randomized parallel controlled trial กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีความพร่องด้านสติปัญญาเข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ซึ่งมีทั้งหมด 86 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 43 ราย โดยการสุ่มใช้ block of 4 กลุ่มทดลอง ได้รับการฝึกกิจกรรมมอนเตสซอรี่สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง ทั้งหมด 2 สัปดาห์ต่อราย กลุ่มควบคุมได้รับการฝึกกิจกรรมกลุ่มตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยก่อนและหลังโปรแกรมประกอบด้วย แบบทดสอบสมรรถภาพสมองของไทย (Thai mental state examination, TMSE) แบบประเมินความสามารถเชิงปฏิบัติดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ และ Wilcoxon rank sum test
ผลการศึกษา: กลุ่มทดลอง มีค่า mean rank ของคะแนน ADL =60.14 (p50=6) กลุ่มควบคุมมีค่า mean rank ของคะแนน ADL = 20.86 (p50=2) มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) โดยมีค่า IQR อยู่ระหว่าง 4 ถึง 7 และ 1 ถึง 3 ตามลำดับ
สรุป: ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเมื่อเข้าโปรแกรมมอนเตสซอรี่แล้วพบว่ามีความสามารถในการดูแลกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น จึงควรนำกิจกรรมมอนเตสซอรี่มาใช้กับปู้ป่วยที่มีภาวะความพร่องทางด้านสติปัญญา
ที่มา
วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2556, April-June ปีที่: 58 ฉบับที่ 2 หน้า 175-182
คำสำคัญ
Cognitive impairment, Montessori program, ADL, มอนเตสซอรี่, ผู้ป่วยที่มีภาวะความพร่องทางด้านสติปัญญา