ความพีงพอใจและคุณภาพชีวิตภายหลังการใส่ฟันเทียมทั้งปากในโครงการฟันเทียมพระราชทานที่โรงพยาบาลโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์
เบญจมาส สือพัฒธิมา
โรงพยาบาลโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความพึงพอใจต่อฟันเทียมทั้งปากและคุณภาพชีวิตที่สัมพันธ์กับสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุภายหลังการใส่ฟันเทียมทั้งปากของโรงพยาบาลโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ตามโครงการ “ฟันเทียมพระราชทานฯ” ระหว่างปี พ.ศ.2548-2552 เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา เก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการใส่ฟันเทียมทั้งปาก จำนวน 183 คน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2553 เครื่องมือที่ใช้คือแบบประเมินความพึงพอใจของผู้สูงอายุที่ได้รับบริการใส่ฟันเทียมพระราชทานของสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และแบบประเมินผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต (OIDP) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ความถี่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 66.7 ของผู้สูงอายุที่มารับการใส่ฟันเทียมทั้งปากเป็นเพศหญิง ร้อยละ 51.4 รับข่าวสารด้านบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบล ร้อยละ 54.1 เดินทางไปรับบริการโดยญาติพาไป ร้อยละ 82.5 ใส่ฟันเทียมเพื่อเคี้ยวอาหารและความสวยงาม ร้อยละ 95.2 ทำความสะอาดฟันเทียมโดยใช้ยาสีฟันและแปรงสีฟัน และร้อยละ 70.3 ถอดฟันเทียมแช่น้ำขณะนอนตอนกลางคืน ภายหลังการใส่ฟันเทียมทั้งปากผู้สูงอายุร้อยละ 88.0 สบายใจ มีความสุขมากขึ้น ร้อยละ 87.4 อารมณ์ดีขึ้น กล้ายิ้มมากขึ้น ร้อยละ 84.2 เคี้ยวและรับประทานอาหารได้มากขึ้น ร้อยละ 78.1 มีความพึงพอใจหลังการใส่ฟันเทียมทั้งปากในระดับมาก และร้อยละ 71.0 ภายหลังการใส่ฟันเทียมทั้งปาก ไม่มีปัญหาในช่องปากที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต (OIDP = 6.45±5.27) ส่วนกิจกรรมที่มีปัญหาต่อสุขภาพช่องปากและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุภายหลังการใส่ฟันเทียมทั้งปาก คือ ปัญหาการกินอาหารและการพูดหรือการออกเสียงให้ชัดเจน โดยสรุปประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมทั้งปากมีความพึงพอใจและช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี คือสามารถเคี้ยวหรือกินอาหารได้ดีขึ้น
ที่มา
วิทยาสารทันตสาธารณสุข ปี 2556, January-June ปีที่: 1 ฉบับที่ 18 หน้า 36-48
คำสำคัญ
elderly, ผู้สูงอายุ, SATISFACTION, ความพึงพอใจ, Oral health impact to quality of life, ผลกระทบของสุขภาพช่องปากต่อคุณภาพชีวิต, ฟันเทียมทั้งปาก, Complete denture