การวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลมาตรการป้องกันการเกิดภาวะเบาหวานด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนวิถีชิวิตและการให้ยาในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวาน
แพรพรรณ ภูริบัญชา*, บุญทนาการ พรมภักดี, พิสมัย สุระกาญจน์
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น
บทคัดย่อ
                การประเมินต้นทุนประสิทธิผล ของมาตรการป้องกันการเกิดภาวะเบาหวาน ในประชากรกลุ่มเสี่ยง จำนวน 10,000 ราย ด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และการให้ยา metformin โดยอาศัย decision tree analysis model ด้วยการคิดต้นทุนในการให้บริการเพื่อป้องกันการเกิดภาวะเบาหวาน และประสิทธิผลของมาตรการคิดจากจำนวนผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดจากการได้รับมาตรการป้องกันในประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาเป็นข้อมูลทุติยภูมิ ที่สืบค้นจากเอกสารผลงานวิจัยและฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์
                ผลการวิเคราะห์ต้นทุนเปรียบเทียบกับประสิทธิผลพบว่า การให้มาตรการด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการให้ความรู้ร่วมกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย มีความคุ้มทุนสูงที่สุดต่อการป้องกันการเกิดภาวะเบาหวาน โดยป้องกันการเกิดภาวะเบาหวานในประชากรกลุ่มเสี่ยงได้ 8,560 ราย ด้วยต้นทุน 5,872.6 ดอลลาร์สหรัฐ การให้ยา metformin 7,830 ราย ด้วยต้นทุน 8,456.06 ดอลลาร์สหรัฐ และผลการวิเคราะห์ความไวโดยใช้ค่าความน่าจะเป็นต่ำสุดและสูงที่สุดของต้นทุนของการให้ความรู้ร่วมกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย พบว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงต้นทุนมาตรการให้ความรู้ร่วมกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกายให้สูงขึ้นเกิน 72,000 ดอลลาร์สหรัฐจะส่งผลให้การใช้ยา metformin มีความคุ้มทุนประสิทธิผลมากกว่ามาตรการให้ความรู้ร่วมกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ส่วนผลการวิเคราะห์ความไวของตัวแปรอื่นๆ ไม่พบความแตกต่าง
                การวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลนี้อยู่ภายใต้บริบทหรือมุมมองด้านการสาธารณสุขของประชากรโดยรวม หากเป็นมุมมองรายบุคคลแล้วการให้ยา metformin อาจมีความจำเป็นในรายบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นเบาหวานจากประวัติเบาหวานในครอบครัวและค่าดัชนีมวลกายที่สูงมากอย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากการให้ความรู้ร่วมกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายแล้ว อาจพิจารณาให้ยา metformin ร่วมด้วย ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาวิจัยต้นทุนประสิทธิผลอย่างเป็นระบบของมาตรการให้ความรู้ร่วมกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ทั้งที่ใช้ยาและไม่ได้ยา metformin เพื่อนำมาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือโครงการป้องกันการเกิดภาวะเบาหวานในประชากรกลุ่มเสี่ยง จะนำมาซึ่งการลดภาระงบประมาณของประเทศโดยรวมในการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศต่อไป
ที่มา
วารสารสำนักป้องกันและควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น ปี 2554, April-September ปีที่: 2 ฉบับที่ 19 หน้า 1-16
คำสำคัญ
Diabetes, เบาหวาน, medication, Cost Effectiveness Analysis, Lifestyle Modification, การวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผล, การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต, การให้ยา