การศึกษาไปข้างหน้าเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างสารสกัดจากหัวหอมในสารซิลิโคนกับยาหลอกในการป้องกันการเกิดแผลเป็น hypertrophic และ keloid จากแผลผ่าตัดที่หน้าอกในผู้ป่วยเด็ก
ศิริวรรณ วนานุกูล*, สุชีรา ฉัตรเพริดพราย, ดนยวรรณ พึ่งสุจริต, พรเทพ เลิศทรัพย์เจริญ
Department of Pediatrics, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Bangkok 10310, Thailand; Phone: 0-2256-4951; E-mail: siriwanwananukul@yahoo.com
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: มีการศึกษาถึงยาทาใหม่ที่ใช้ในการรักษาแผลเป็นในผู้ใหญ่ แต่ยังไม่มีการศึกษาในเด็กไทย
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดแผลเป็นนูน (hypertrophic scar) และ keloid หลังการผ่าตัดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในผู้ป่วยเด็ก ระหว่างเจลสารสกัดจากหัวหอม (onion extract) และสารอื่นๆ กับยาหลอก (placebo)
วัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาแบบ prospective randomized double-blinded split-scar experimental study ทำการศึกษาในผู้ป่วยเด็กที่มีแผล median sternotomy หลังการผ่าตัดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวนผู้ป่วยเด็ก 39 ราย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 หลังจากผ่าตัดวันที่ 7 ผู้ป่วยจะได้ยาทาโดยวิธีสุ่มแบ่งแผลเป็นแผลครึ่งบนและแผลครึ่งล่าง ให้ทาเจลสารสกัดจากหัวหอมในสารซิลิโคนหรือยาหลอกในผู้ป่วยรายเดียวกัน ทำการตรวจติดตามการเกิดแผลเป็นทั้งหมด 6 เดือน โดยผู้ประเมินและผู้ป่วยไม่ทราบชนิดของยาที่ใช้ การประเมินแผลเป็นใช้อัตราการเกิดแผลเป็น, Vancouver Scar Scale (VSS) เปรียบเทียบแผลครึ่งบนและครึ่งล่าง และถ่ายรูปแผลเป็นรวมทั้งบันทึกผลข้างเคียงจากยา
ผลการศึกษา: มีผู้ป่วย 30 ราย ที่เข้าร่วมตลอดการศึกษา 6 เดือน พบว่าในกลุ่มเจลสารสกัดจากหัวหอมในสารซิลิโคน มีจำนวนผู้ป่วยที่ไม่เกิดแผลเป็นเลย 6 ราย (ร้อยละ 20) มากกว่ากลุ่ม placebo ที่มี 1 ราย (ร้อยละ 3.3) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.04) และในกลุ่มเจลสารสกัดจากหัวหอมในสารซิลิโคนมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็น hypertrophic scar 9 ราย ซึ่งน้อยกว่ากลุ่ม placebo ที่มี 18 ราย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.022) อัตราการเกิด keloid ในกลุ่มทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คะแนน VSS ของยาทั้ง 2 กลุ่มไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในการตรวจติดตามแผลเป็นทั้งหมด เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีผู้ป่วย 1 ราย ที่มีตุ่มหนองขนาดเล็กขึ้นในบริเวณที่ทาเจลสารสกัดจากหัวหอมในสารซิลิโคน
สรุป: เจลสารสกัดจากหัวหอมในสารซิลิโคนสามารถช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นในแผล median sternotomy ในผู้ป่วยเด็กได้ส่วนหนึ่ง และช่วยลดอัตราการเกิด hypertrophic scar ลงได้มากกว่ากลุ่ม placebo อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่ได้ช่วยลดการเกิด keloid
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2556, November ปีที่: 11 ฉบับที่ 96 หน้า 1428-1433
คำสำคัญ
Pediatric patients, Onion extract, Hypertrophic scar, Median sternotomy wound