การประเมินการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระดับประชากรในประเทศไทยด้วยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์
นัยนา ประดิษฐ์สิทธิกร
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
บทคัดย่อ
                มะเร็งปากมดลูกก่อให้เกิดความสูญเสียในสตรีไทย ภารกิจที่ท้าทายผู้บริหาร คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการป้องกันและควบคุมโรค การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความคุ้มค่าของมาตรการปัจจุบัน คือ การคัดกรองสตรีอายุ 30 -60 ปี ทุก 5 ปี เปรียบเทียบกับทางเลือกอื่น ได้แก่ การขยายเป้าหมายให้ครอบคลุมสตรีอายุน้อยกว่า 30 ปี และเพิ่มความถี่เป็นทุก 3 และ 1 ปี การศึกษาปรับปรุงแบบจำลอง Markov ที่พัฒนาในปี 2550  ต้นทุนใช้มุมมองทางสังคม โดยปรับค่าเป็นปี 2555 ผ่านดัชนีราคาผู้บริโภคจากสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และปรับค่าอรรถประโยชน์ของมะเร็งปากมดลูกผ่านสมการของประเทศไทย การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการไม่คัดกรอง มาตรการปัจจุบัน เมื่อดำเนินการภายใต้อัตราคัดกรองร้อยละ 80 มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดอุบัติการณ์และอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 40 ทางเลือกที่ดีที่สุดและควรพิจารณา หากต้องการขยายการคัดกรอง คือ เพิ่มความถี่การคัดกรองจากทุก 5 ปีเป็นทุก 3 ปี โดยคงกลุ่มอายุเติมจะช่วยลดอุบัติการณ์อีกปีละ 900 ราย และป้องกันการเสียชีวิต 450 ราย ลดต้นทุนการรักษามะเร็งปากมดลูกได้ปีละ 1,200 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม -73,300 บาทต่อปีสุขภาวะ แต่จำเป็นต้องพัฒนานักเซลล์วิทยาเพิ่มอีกอย่างน้อย 180 คน คิดเป็นร้อยละ 62 ของกำลังคนในปัจจุบัน การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันที่ให้สตรีอายุ 30-60 ปี รับบริการคัดกรองสม่ำเสมอทุก 5 ปี เป็นมาตรการที่คุ้มค่า เหมาะสม และปฏิบัติได้ แต่ควรควบคุมประสิทธิภาพและคุณภาพของการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายอัตราคัดกรองในประชากรที่ตั้งไว้ร้อยละ 80 ส่วนการเพิ่มความถี่ในการคัดกรองเป็นทุก 3 ปี ถึงแม้จะมีความคุ้มค่าและได้ประโยชน์เพิ่ม แต่ควรวางแผนด้านบุคลากรและระบบให้พร้อม
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2556, July-September ปีที่: 7 ฉบับที่ 3 หน้า 389-399
คำสำคัญ
Cervical cancer, Cost-utility, Markov model, ต้นทุนอรรถประโยชน์, มะเร็งปากมดลูก, mass screening, คัดกรองระดับประชาชน, แบบจำลองมาร์คอฟ