ผลทางคลินิกของการใช้ยาเจลฟ้าทะลายโจรร่วมรักษาโรคปริทันต์อักเสบระยะเวลา 3 เดือน
จุฬาลักษณ์ เกษตรสุวรรณ, มัลลิกา ศิริรัตน์, ราชพร สีจันทร์*
สำนักงานวิจัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 6 ถนนโยธี ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์: 02-200-7620-24 โทรสาร: 02-200-7698
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: การศึกษาเปรียบเทียบดัชนีทางคลินิกในการรักษาโรคปริทันต์อักเสบโดยการขูดหินน้ำลายเกลารากฟันขัดฟันและสอนการแปรงฟันร่วมกับใช้ยาเจลฟ้าทะลายโจรกับใช้เจลพื้นฐานเป็นระยะเวลา 3 เดือน
วัสดุอุปกรณ์และวิธีการศึกษา: อาสาสมัคร 12 คนเป็นโรคปริทันต์อักเสบจากโรงพยาบาลทันตกรรม มหาจักรีสิรินธร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวนฟันที่ศึกษา 104 ซี่ เป็นฟันรากเดียวที่มร่องลึกปริทันต์เท่ากับหรือมากกว่า 5 มิลลิเมตร วัดดัชนีทางคลินิก ก่อนการรักษา สุ่มแบ่งฟันที่อยู่คนละซีกปากเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 52 ซี่ ให้การรักษาด้วยวิธีขูดหินน้ำลายเกลารากฟันขัดฟัน สอนการแปรงฟันวิธีดัดแปลงจากวิธีของ Bass ใช้ยาเจลฟ้าทะลายโจรหรือเจลพื้นฐานร่วมรักษาแต่ละกลุ่มโดยวิธีเดียวกัน วัดค่าดัชนีทางคลินิกหลังการรักษา 3 เดือน
ผลการศึกษา: อาสาสมัครเพศชาย 3 คน หญิง 9 คนอายุเฉลี่ย 44.5±6.64 ปีก่อนรักษาเปรียบเทียบค่าดัชนีทางคลินิกระหว่างกลุ่มรับยากับกลุ่มรับเจลพื้นฐานพบว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หลังการรักษาทั้งสองกลุ่ม ค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์มีค่าเฉลี่ยที่ประมาณระดับ 1 และการแจกแจงความถี่ของดัชนีสภาพเหงือกพบฟันที่มีค่าสภาพเหงือกที่ระดับ 2 มีจำนวนเกินครึ่ง แสดงได้ว่าอาสาสมัครยังไม่สามารถควบคุมอนามัยช่องปากได้และเหงือกยังมีอาการอักเสบ เมื่อเปรียบเทียบค่าดัชนีทางคลินิกก่อนและหลังการรักษาภายในกลุ่มมีค่าต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทุกค่ายยกเว้นค่าดัชนีการโยกของฟันกลุ่มรับสารพื้นฐานเท่านั้น มีค่าหลังรักษาน้อยลงแต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ค่าความลึกร่องลึกปริทันต์ เหงือกร่นและระยะยึดเกาะที่สูญเสียเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มรับยากับรับเจลพื้นฐานต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงเวลาจะต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และการเพิ่มขึ้นของระดับการยึดเกาะกลุ่มรับยามีค่าดีกว่ากลุ่มรับเจลพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
บทสรุป: กลุ่มผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบที่ยังคงมีการอักเสบของเหงือกหลังรักษา การใช้ยาเจลฟ้าทะลายโจร่วมรักษาให้ผลดีกว่าไม่ใช้เล็กน้อยในระยะเวลาวัดผล 3 เดือน
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์มหิดล ปี 2556, September-December ปีที่: 33 ฉบับที่ 3 หน้า 168-175
คำสำคัญ
gingival index, Andrographispaniculata gel, pocket depth, attachment level, 3-month study, adjunctive treatment, ยาเจลฟ้าทะลายโจร, ดัชนีสภาพเหงือก, ร่องลึกปริทันต์, ระยะการยึดเกาะ, การรักษา 3 เดือน, ร่วมรักษา