การได้รับยา diclofenac ฉีดทางกล้ามเนื้อก่อนการผ่าตัดเพื่อลดอาการปวดภายหลังการผ่าตัดมดลูกทั้งหมดผ่านทางหน้าท้อง
ศิริพร ประยูรหงส์, สาวินี รัชชานนท์*, เถาวลัย ถาวรามร, สุจารีย์ ภู่พิพัฒน์ภาพ
Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine Vajira Hospital, Navamindradhiraj University, Bangkok, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยา diclofenac ฉีดเข้ากล้ามเนื้อก่อนการผ่าตัดเพื่อลดอาการปวดหลังผ่าตัดมดลูกทั้งหมดผ่านทางหน้าท้อง
วัสดุและวิธีการ: การศึกษาวิจัยเป็นแบบการทดลองแบบสุ่มในผู้ป่วย 37 คน ที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกทั้งหมดผ่านทางหน้าท้องในโรคที่ไม่ใช่โรคมะเร็งที่ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ในช่วง 1 กันยายน 2555 ถึง 31 มกราคม 2556 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วย 18 คนได้รับยา diclofenac 75 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อกับผู้ป่วย 19 คน ได้รับน้ำเกลือ 3 มิลลิลิตร ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ก่อนการผ่าตัดนาน 20 นาที ประเมินปริมาณการใช้ยา meperidine ใน 24 ชั่วโมง และความรุนแรงของอาการปวดหลัง การผ่าตัดชั่วโมงที่ 4, 8, 12 และ 24 โดยใช้คะแนนความปวดเป็น NRS (numeric rating scale) และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
ผลการวิจัย: ค่าเฉลี่ยของปริมาณการใช้ยา meperidine หลังการผ่าตัด 24 ชั่วโมง ในกลุ่มทดลองต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างไม่มีนัยสำคัญ (46.11±24.77 mg และ 68.42±44.63 mg, ตามลำดับ, p = 0.069) คะแนนความปวดที่ชั่วโมงที่ 4, 8, 12 และ 24 ในกลุ่มทดลองต่ำกว่าในกลุ่มควบคุม (2.83 vs 4.53, p = 0.052; 2.83 vs 4.89, p = 0.031; 2.78 vs 4.68, p = 0.044; 1.28 vs 1.89, p = 0.296, ตามลำดับ) ไม่พบผลข้างเคียงอย่างรุนแรงทั้งสองกลุ่มการทดลอง
สรุป: การได้รับยา diclofenac ก่อนการผ่าตัดสามารถลดอาการปวดหลังการผ่าตัดได้อย่างมีนัยสำคัญที่ ชั่วโมงที่ 8 และ 12 ในขณะที่ปริมาณการใช้ยา meperidine ใน 24 ชั่วโมง หลังการผ่าตัดลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญ
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2556, October ปีที่: 21 ฉบับที่ 4 หน้า 176-181
คำสำคัญ
total abdominal Hysterectomy, Diclofenac, preemptive