ประสิทธิภาพการรักษาภาวะช่องคลอดแห้งในสตรีวัยหมดระดู ด้วยยาคอนจูเกท เอสโตรเจนครีม ขนาด 0.3 มิลลิกรัม
หนึ่งฤทัย สินนิธิถาวร*, หลิงหลิง สาลัง, สมศักดิ์ ประฏิภาณวัตร
Department of Obstetrics and Gynecology, Khon Kaen Hospital, Khon Kaen, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการรักษาภาวะช่องคลอดแห้งในสตรีวัยหมดระดูของยาคอนจูเกทเอสโตรเจนครีม (conjugated estrogen cream) ขนาด 0.3 มิลลิกรัม
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุม
สถานที่ทำวิจัย: คลินิกสตรีวัยหมดระดู แผนกผู้ป่วยนอก กลุ่มงานสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น
กลุ่มตัวอย่าง: สตรีวัยหมดระดูที่มีภาวะช่องคลอดแห้ง ที่ติดตามการรักษาคลินิกสตรีวัยหมดระดู โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น
วัสดุและวิธีการ: สตรีวัยหมดระดูที่มีภาวะช่องคลอดแห้ง 73 คน สุ่มเป็น 2 กลุ่ม โดยใช้คอมพิวเตอร์ กลุ่มทดลองจำนวน 36 คน ได้รับการรักษาด้วยยาคอนจูเกท เอสโตรเจนครีม (conjugated estrogen cream) ขนาด 0.3 มิลลิกรัม และกลุ่มควบคุมจำนวน 37 คน ได้รับการรักษาด้วยครีม placebo ทางช่องคลอด 2 ครั้งต่อสัปดาห์ (วันจันทร์และพฤหัสบดี) นาน 12 สัปดาห์ โดยทำการประเมินผล ด้วยการวัดค่า vaginal maturation index (VMI) ก่อนเข้ารับการรักษาและหลังการรักษาที่ 4 และ 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ขณะติดตามการรักษาจะมีการวัดค่าความเป็นกรด-ด่างของช่องคลอด, ประเมินอาการช่องคลอดแห้ง, การตรวจร่างกาย, ตรวจภายใน และอัตราซาวน์ทางช่องคลอด (วัดความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก) ร่วมด้วย
ตัววัดที่สำคัญ: ผลการศึกษาหลักของการทดลองนี้คือค่าความเปลี่ยนแปลงของ VMI โดยพยาธิแพทย์ หลังได้รับการรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง 12 สัปดาห์ ผลการศึกษารอง ได้แก่ ค่าความเปลี่ยนแปลงของค่าความเป็นกรด-ด่างของช่องคลอด การเปลี่ยนแปลงของอาการของภาวะช่องคลอดแห้ง เมื่อจบการศึกษา
ผลการวิจัย: สตรีวัยหมดระดูที่เข้าร่วมการศึกษาได้มีการติดตามการรักษาครบตลอดระยะเวลา 12 สัปดาห์และทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในแง่ของข้อมูลพื้นฐาน พบว่ามีค่าความเปลี่ยนแปลงของ VMI ในกลุ่มทดลองมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ 4, 12 สัปดาห์ (21.2±18.9 versus 1.3±12.6, < 0.05, 34.5±19.7 versus -0.6±14.4, p < 0.001) และการลดลงของค่าความเป็นกรด-ด่าง ของช่องคลอด ที่ 12 สัปดาห์ (-1.4±1.0 versus -0.1±0.9, p < 0.001) ร่วมกับมีอาการของภาวะช่องคลอดแห้งที่ลดลงในกลุ่มทดลอง โดยเฉพาะอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ (dyspareunia) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (86.1% to 19.4%, p < 0.001) และไม่พบอาการข้างเคียงจากยาตลอดการทดลอง
สรุป: การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการรักษาภาวะช่องคลอดแห้งด้วย 0.3 มิลลิกรัม conjugated estrogen cream มีประสิทธิภาพเหนือกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ placebo โดยวัดจากการเปลี่ยนแปลงของ VMI, ภาวะความเป็นกรด-ด่างของช่องคลอดที่ลดลง และอาการทางช่องคลอดที่ดีขึ้น โดยไม่พบว่ามีอาการข้างเคียงที่เกิดจากการรักษา
 
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2556, October ปีที่: 21 ฉบับที่ 4 หน้า 182-189
คำสำคัญ
Postmenopausal, conjugated estrogens cream, atrophic vaginitis, vaginal maturation index