ผลของการฝึกเดินสมาธิต่อการควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดและการลดความเครียดในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2
อติกานต์ เกนี่, เทพ หิมะทองคำ, ดรุณวรรณ สุขสม*
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบผลของการฝึกเดินสมาธิและการฝึกเดินต่อการควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดและการลดความเครียดในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 อายุระหว่าง 40-75 ปี จำนวน 23 คน ทำการ
สุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ ตามเพศ และระยะเวลาการเป็นโรคเบาหวาน และแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ฝึกออกกำลังกายด้วยการเดิน จำนวน 11 คน และกลุ่มที่ 2 ฝึกออกกำลังกายด้วยการเดินสมาธิ จำนวน 12 คน ทั้งสองกลุ่มทำการออกกำลังกายโดยใช้การเดินบนลู่กล เป็นเวลา 30 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ จำนวน 12 สัปดาห์ ให้มีความหนักอยู่ที่ระดับเบาถึงปานกลาง (50-60% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด) ในช่วงระยะเวลา 1-6 สัปดาห์ และปรับเพิ่มจนถึงความหนักที่ระดับปานกลาง (61-70% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด) ในสัปดาห์ที่ 7-12 การเดินสมาธิบนลู่กลใช้การกำหนดจิตขณะเดินโดยการตั้งใจจับความรู้สึกที่เท้าขณะก้าวเดินโดยให้พูดออกเสียงคำว่า “พุท” และ “โธ” เมื่อก้าวเท้าแต่ละข้างไปข้างหน้า ก่อนและหลังการฝึกตามโปรแกรมการออกกำลังกาย ทำการประเมินตัวแปรด้านสรีรวิทยาสุขสมรรถนะ และสารชีวเคมีในเลือดของอาสาสมัคร
ผลการวิจัย: ภายหลังจาก 12 สัปดาห์ การฝึกเดินทั้งสองแบบค่าเฉลี่ยของสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด
เพิ่มขึ้น และระดับนํ้าตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ไม่มีผลต่อค่าเฉลี่ยนํ้าหนักตัว ดัชนีมวลกาย อัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก องค์ประกอบของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ค่าไกลโคซีเลทฮีโมโกลบิน และระดับไขมันในเลือด แต่พบว่าในกลุ่มฝึกเดินสมาธิมีค่าเฉลี่ยของความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวและความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และตํ่ากว่ากลุ่มฝึกเดินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในด้านความเครียดพบว่า คะแนนระดับความเครียดไม่เปลี่ยนแปลงระหว่างก่อนและหลังการฝึกออกกำลังกายในทั้ง 2 กลุ่ม แต่พบว่าในกลุ่มฝึก
เดินสมาธิมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีค่าสูงกว่ากลุ่มฝึกเดินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สรุปผลการวิจัย: การฝึกเดินและการฝึกเดินสมาธิมีผลดีต่อการพัฒนาสุขสมรรถนะ และช่วยลดระดับนํ้าตาล
ในเลือด แต่การฝึกเดินสมาธิสามารถช่วยลดความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นการออกกำลังกายที่มี
ประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2
 
ที่มา
๋Journal of Sports Science and Health ปี 2557, September-December ปีที่: 15 ฉบับที่ 3 หน้า 75-90
คำสำคัญ
Type 2 diabetes, Glycemic control, การควบคุมระดับน้ําตาลในเลือด, Walking-meditation exercise, Stress reduction, เบาหวานประเภทที่ 2, การฝึกเดินสมาธิ, การควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือด, การลดความเครียด