การเปรียบเทียบอัตราการแตกของเม็ดเลือดแดงระหว่างวิธีใช้หลอดเก็บตัวอย่างเลือดสูญญากาศกับหลอดฉีดยา
สิโรตม์ ศรีมหาดไทย
กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชบุรี
บทคัดย่อ
                การแตกของเม็ดเลือดแดงของตัวอย่างเลือดที่ส่งทางห้องปฏิบัติการ ทำให้การรายงานผลมีความผิดพลาดและทำให้การตัดสินใจในการรักษาทำได้ยาก ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและเพิ่มทุพพลภาพแก่ผู้ป่วย ซึ่งการเจาะเลือดโดยใช้หลอดสุญญากาศอาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดการแตกของเม็ดเลือดแดง
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอัตราการแตกของเม็ดเลือดแดงระหว่างการเจาะเลือดโดยใช้หลอดสูญญากาศกับหลอดฉีดยา
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาติดตามไปข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน พ.ศ.2557 ในผู้ป่วยที่รับบริการที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลราชบุรี ที่ต้องมีการเจาะเลือดส่งทางห้องปฏิบัติการ โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เจาะเลือดโดยใช้หลอดเก็บตัวอย่างเลือดสุญญากาศ และหลอดฉีดยาโดยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการแตกของเม็ดเลือดแดงของแต่ละกลุ่ม และนำมาวิเคราะห์ความแตกต่างทางสถิติ
ผลการศึกษา: มีผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินจำนวน 300 คน แบ่งเป็นกลุ่มละ 150 คน พบว่ากลุ่มที่ใช้หลอดสูญญากาศในการเจาะเลือดมีอัตราการแตกของเม็ดเลือดแดงมากกว่ากลุ่มที่ใช้หลอดฉีดยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (6.70 vs. 0.70, p-value = 0.006) odds ratio 10.64 (95% CI = 10.64 -84.21) แต่ในกลุ่มย่อยของกลุ่มที่ใช้หลอดสูญญากาศนั้น การใช้สายสวนเส้นเลือดดำในการเจาะเลือด พบว่ามีการแตกของเม็ดเลือดแดงมากกว่ากลุ่มที่ใช้เข็มเจาะเลือด แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.063)
สรุป: ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า การใช้หลอดเก็บตัวอย่างเลือดสุญญากาศในการเจาะเลือด ส่งผลให้เกิดการแตกของเม็ดเลือดแดงมากกว่าการใช้หลอดฉีดยาอย่างมีนัยสำคัญ
 
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 4-5 ปี 2557, October-December ปีที่: 33 ฉบับที่ 4 หน้า 281-289
คำสำคัญ
Vacuum blood collection tube, hemolysis, Ratchaburi Hospital, การแตกของเม็ดเลือดแดง, หลอดเก็บตัวอย่างเลือดสูญญากาศ, โรงพยาบาลราชบุรี