ต้นทุนการดูแลรักษาผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนไตในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กรณีศึกษาโรงพยาบาลรามาธิบดี ปีงบประมาณ 2552
ปิยนุช สุขสำราญ*, สุคนธา คงศีล, สุขุม เจียมตน, วิชช์ เกษมทรัพย์
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ 10400
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนการดูแลรักษาผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนไตในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กรณีศึกษาโรงพยาบาลรามาธิบดี ปีงบประมาณ 2552 ในมุมมองของผู้ให้บริการ เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา เก็บรวบรวมข้อมูลต้นทุนในมุมมองผู้ให้บริการแบบย้อนหลังของปีงบประมาณ 2552 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม MS Excel
ผลการศึกษาพบว่าต้นทุนรวมการดูแลรักษาผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนไตในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย จำนวน 14 ราย เพศชาย 12 ราย เพศหญิง 2 ราย มีต้นทุนรวมทั้งสิ้น 5,436,576.64 บาท ประกอบด้วย ต้นทุนที่ไม่ได้เก็บค่าบริการทางการแพทย์ (Routine Service Cost: RSC) 1,598,062.90 บาท คิดเป็นร้อยละ 29.39 ต้นทุนการให้บริการทางการแพทย์ (Medical Care Cost: MCC) 3,665,310.95 บาท คิดเป็นร้อยละ 67.42 และต้นทุนค่าลงทุน (Capital Cost: CC) 173, 202.79 บาท คิดเป็นร้อยละ 3.19 ในส่วนของอัตราส่วนของต้นทุนพบว่า ต้นทุนที่ไม่ได้เก็บค่าบริการทางการแพทย์: ต้นทุนการให้บริการทางการแพทย์ : ต้นทุนค่าลงทุน คือ 9.23: 21.16: 1 และเมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนของต้นทุนการดูแลรักษาผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนไต ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต่อค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บในการให้บริการรักษาผู้ป่วย (Cost change ratio) พบว่าโรงพยาบาลมีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ต่ำกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงถึงร้อยละ 71.4
จากการศึกษานี้ทางผู้บริหารควรนำข้อมูลไปใช้ เพื่อเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภาระค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ และเสนอให้มีการปรับการจ่ายเงินค่าผ่าตัดเปลี่ยนไตให้หน่วยบริการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นเป็นแนวทางในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนต่างที่ทางโรงพยาบาลเป็นผู้รับผิดชอบอยู่
 
 
ที่มา
รามาธิบดีเวชสาร ปี 2555, July-September ปีที่: 35 ฉบับที่ 3 หน้า 195-201
คำสำคัญ
Cost, ต้นทุน, Kidney transplantation, end stage renal disease, การผ่าตัดเปลี่ยนไต, โรคไตวายระยะสุดท้าย