การนั่งท่าผีเสื้อต่อการเปิดปากมดลูกในขณะรอคลอด
วนิดา วงศ์มุณีวรณ์
โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
บทคัดย่อ
บทนำ: ท่าของผู้คลอดมีผลต่อแรงหดรัดตัวของมดลูก ขนาดเชิงกราน และการหมุนภายในของทารก สามารถลดระยะเวลาการคลอดโดยเฉพาะในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการหดรัดตัวของมดลูก การนั่งทำท่าผีเสื้อแบบมณีเวชน่าจะทำให้การคลอดเร็วขึ้น
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเปิดของปากมดลูกระหว่างการนั่งท่าผีเสื้อขณะรอคลอดกับท่านอนปกติ
วิธีการศึกษา:  การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่ม (Randomized controlled trial) ประชากรที่ศึกษา ได้แก่ หญิงมาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ 48 ราย แบ่งเป็นกลุ่มนั่งท่าผีเสื้อ และกลุ่มควบคุมเท่าๆ กัน เริ่มศึกษาเมื่อเข้าสู่ระยะของการคลอดโดยธรรมชาติ ปากมดลูกเปิดตั้งแต่ 3 เซนติเมตร ได้รับยาออกซิโตซินทางหลอดเลือดดำ ใช้รูปภาพแสดงวิธีการนั่งท่ามณีเวชประกอบการสอนนั่ง บันทึกข้อมูล ได้แก่ ลักษณะถุงน้ำคร่ำ ระดับส่วนนำของทารกเมื่อเริ่มศึกษา เวลาที่ปากมดลูกเปิด 10 เซนติเมตร การวัดผลลัพธ์ คือ เวลาเฉลี่ยการเปิดของปากมดลูกต่อ 1 เซนติเมตร
ผลการศึกษา: ค่าเฉลี่ยเวลาเปิดของปากมดลูกในกลุ่มนั่งท่าผีเสื้อแบบมณีเวช และกลุ่มควบคุม เท่ากับ 19.6 และ 29.4 นาทีต่อเซนติเมตร ตามลำดับ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป: การนั่งท่าผีเสื้อแบบมณีเวชในขณะรอคลอดช่วยให้ปากมดลูกเปิดเร็วกว่าการนอนรอคลอดปกติ
 
ที่มา
วารสารวิชาการเขต 12 ปี 2558, May-August ปีที่: 26 ฉบับที่ 2 หน้า 51-54