การเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นระหว่างการใช้ยาสูตร FAC และ AC-T ในคลินิกมะเร็งรายโรคโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
อรรัมภา ชื่นชม, วรรณคล เชื้อมงคล*, กมุทพร รัตนชีวร, วีรภัทรา เกษมศักกริน
คณะเภสัชศาตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อ.องครักษ์ จ.นครนายก
บทคัดย่อ
บทนำ ปัจจุบันการศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีค่อนข้างจำกัด และยังขาดการศึกษาเปรียบเทียบผลของการได้รับสูตรยาเคมีบำบัดที่แตกต่างกันต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ดังนั้นการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นหลังผ่าตัดเต้านม ก่อนและหลังได้รับยาเคมีบำบัดสูตร FAC (fl uorouracil, doxorubicin, cyclophosphamide) และสูตร AC-T (doxorubicin, cyclophosphamide ตามด้วย docetaxel หรือ paclitaxel) และเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตระหว่างสองสูตรการรักษา วิธีดำเนินการวิจัย: ศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบไปข้างหน้า ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นหลังผ่าตัดเต้านม ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับยาสูตร FAC และสูตร AC-T ใช้ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลประมาณ 9 เดือน ผลการวิจัย: มีผู้เข้าร่วมการศึกษา43 ราย กลุ่มที่ได้รับสูตร FAC 23 ราย และสูตร AC-T 20 ราย ข้อมูลทั่วไปและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก่อนได้
รับยาทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตในรอบสุดท้ายของการรักษากับก่อนได้รับยารอบแรกของกลุ่มที่ได้รับสูตร FAC พบว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตด้านร่างกายลดลง (p=0.009) ส่วนคุณภาพชีวิตด้านอารมณ์/จิตใจ และด้านอื่นๆ เพิ่มเติม สูงขึ้น (p=0.008 และ 0.027 ตามลำดับ) ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับสูตร AC-T มีคุณภาพชีวิตด้านร่างกายในรอบที่ 3 และรอบที่ 6 ของการรักษาตํ่ากว่าก่อนได้รับยารอบแรก (p=0.005 และ p=0.028 ตามลำดับ) เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตในรอบสุดท้ายของการรักษากับก่อนได้รับยารอบแรกพบว่าคุณภาพชีวิตด้านร่างกาย สังคม/ครอบครัว อารมณ์/จิตใจ การปฏิบัติกิจกรรม และโดยรวมทั้งหมดไม่แตกต่างกัน ยกเว้นคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ เพิ่มเติมที่พบว่ามีค่าสูงกว่าก่อนได้รับยารอบแรก (p=0.013) และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสองสูตรในรอบสุดท้ายของการรักษา พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับสูตร AC-T มีคุณภาพชีวิตด้านร่างกายสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับสูตร FAC อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.012) สรุปผลการวิจัย: ผู้ป่วยที่ได้รับยาสูตรFAC มีคุณภาพชีวิตด้านร่างกายลดลง ขณะที่สูตร AC-T จะมีผลต่อคุณภาพชีวิตด้านร่างกายลดลงในช่วงแรกของการรักษา และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสองสูตร พบว่าสูตร AC-T ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตด้านร่างกายที่ดีกว่าสูตร FAC ดังนั้นยาสูตร AC-T อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่ายาสูตร FAC ในการนำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพทางกายตั้งแต่ก่อนรับการรักษา
 
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2557, May-August ปีที่: 10 ฉบับที่ 2 หน้า 214-227
คำสำคัญ
Quality of life, chemotherapy, คุณภาพชีวิต, Breast cancer, มะเร็งเต้านม, ยาเคมีบำบัด, คุณภาพชี่วิต